NAV กองทุนรวม กับ 5 เรื่องที่นักลงทุนมือใหม่ควรทำความเข้าใจ จะได้ไม่หลงผิด

by kanlongthun
NAV กองทุนรวม

สำหรับมนุษย์เงินเดือน หรือผู้สนใจการลงทุนที่มีเวลาน้อยในการวิเคราะห์ข้อมูล หรือมีพื้นฐานการลงทุนที่ยังไม่สูงมากนัก การเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวม ที่มีผู้จัดการกองทุนคอยบริหารจัดการนำเงินไปจัดสรรทำให้ผลกำไรเติบโต ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางทำเงินที่ดีไม่น้อย โดย NAV เป็นศัพท์เฉพาะอีกหนึ่งคำ ที่อาจจะทำให้นักลงทุนมือใหม่ ยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับNAV กองทุนรวมที่ไม่ชัดเจนลึกซึ้งมากพอ ซึ่งจะทำให้เกิดความสับสน เข้าใจคลาดเคลื่อนในการตัดสินใจลงทุนได้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงเหล่านี้

มาเรียนรู้กันก่อนดีกว่าว่าNAV กองทุนรวม มีอะไรที่ต้องเจาะลึกก่อนการพิจารณาเลือกกองทุนรวมบ้าง 

1. NAV มีที่มาจากไหน เข้าใจก่อนที่จะลงทุน

Net Asset Value หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า NAV หมายถึง สินทรัพย์สุทธิ ซึ่งมาจากมูลค่าสินทรัพย์ตามราคาตลาด + ผลตอบแทนสะสม + เงินสด โดยสามารถคำนวณได้โดยใช้สูตร 

NAV ราคาต่อหน่วย = NAV / จำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมด 

โดยสิ่งที่ต้อง * (ดอกจันทร์) ไว้สำหรับการดูราคา NAV ของแต่ละกองทุนนั้น ราคาที่จะแสดงจะไม่ใช่ของวันปัจจุบันที่จะทำการซื้อ หรือ ขาย แต่จะเป็นราคาของวันก่อนหน้า ส่วนราคาของวันที่นักลงทุนจะตัดสินใจซื้อหรือขายนั้น จะไปปรากฏในวันต่อไป หลังจากที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนได้ทำการประมวลผลการซื้อขายรายวันในวันดังกล่าวแล้ว จึงจะประกาศให้ทราบ 

2. อย่าดูแค่ราคา NAV เพราะนี่ไม่ใช่ตัวชี้วัดว่ากองทุนถูกหรือแพง

นักลงทุนมือใหม่หลาย ๆ คนอาจจะมีความเข้าใจที่ผิด ๆ ว่า ยิ่ง NAV ราคาสูง ๆ กองทุนรวมนั้นจะยิ่งแพง ส่วนกองไหน NAV ต่ำ ๆ กองทุนรวมนี้จะมีราคาถูก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วตรรกะนี้เป็นสิ่งที่ผิด หากจะใช้ปัจจัยนี้เป็นเกณฑ์ในการเลือกซื้อ สิ่งที่เหมาะสมกว่าก็คือ การพิจารณาจากผลงานในการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นผลตอบแทนย้อนหลังที่ผ่าน อัตราการจ่ายผลตอบแทนหรือปัญหา อัตราผลกำไรที่เพิ่มขึ้น อายุของกองทุน ความสามารถฝีมือของผู้จัดการกองทุน ซึ่งจะมีผลต่อคุณภาพของกองทุนมากกว่าแค่ราคา NAV 

3. NAV มีประโยชน์อย่างไร ทำไมต้องเรียนรู้ 

สำหรับผู้สนใจลงทุนผ่านกองทุนรวม NAV ถือเป็นหนึ่งในข้อมูลที่ทำให้ทราบว่า เมื่อตัดสินใจซื้อ หรือขายกองทุนนั้น ๆ ไป จะได้ราคาต่อหน่วยที่ราคาเท่าไหร่ ซึ่งจะสามารถนำมาเปรียบเทียบได้กับต้นทุนที่ตนเองถือว่าได้กำไร หรือขาดทุน นอกจากนั้นยังเป็นข้อมูลที่ใช้วัดประสิทธิภาพในการบริหารสร้างผลตอบแทนของผู้จัดการกองทุนว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยขนาดไหน เหมาะสมหรือไม่ที่จะร่วมลงทุน 

4. อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคา NAV ขยับขึ้นลง

การเปลี่ยนแปลงของราคา NAV ในแต่ละวัน เกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัย ทั้งราคาประเมินมูลค่าทรัพย์สินของกองทุน  การซื้อหรือขายทรัพย์ของกองทุน คุณภาพทรัพย์สิน ผลตอบแทนที่ยังไม่ได้รับ หนี้สินและค่าใช้จ่ายของกองทุน จำนวนหน่วยลงทุนที่จัดจำหน่าย หรือไถ่ถอน การจ่ายปันผล ตัวเลขต่าง ๆ เหล่านี้ จะมีผลกระทบมากน้อยแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความผันผวนของราคาทรัพย์สินที่กองทุนไปลงทุนด้วย 

5. NAV มีราคาเริ่มต้นที่ 10 บาท หากปรับตัวต่ำกว่านี้ กองทุนอาจจะมีปัญหา 

เมื่อมีการปิดขายกองทุนรวมของ บลจ. ราคาเริ่มต้นโดยทั่วไป จะอยู่ที่หน่วยละ 10 บาท ซึ่งหากพบว่ากองทุนใด มีราคา NAV ที่ต่ำกว่า 10 บาท ในช่วงเวลาใด ๆ นั่นย่อมสะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงาน ซึ่งกองทุนนี้อาจจะประสบกับปัญหาอะไรบางอย่าง จึงทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิลงลงกว่าราคาเริ่มต้นในการซื้อขาย ซึ่งผู้สนใจลงทุนควรศึกษาหาข้อมูลให้รอบคอบ ลึกซึ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่จะขาดทุน สูญเสียเงินลงทุนบางส่วน หรือทั้งหมดได้ 

NAV เป็นหนึ่งในศัพท์ทางเทคนิคในการลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจ เพื่อให้ทราบถึงความเชื่อมโยงต่อราคา และผลตอบแทนในการลงทุน โดยก่อนที่จะพิจารณาเลือกซื้อ หรือขายกองทุนใดออกไปนั้น ควรที่จะเปรียบเทียบความคุ้มค่า และผลประโยชน์ที่จะได้รับให้แน่ใจ จะได้ไม่หลงผิด เชื่อตามคำแนะนำของบุคคลอื่น หรือตัดสินใจแบบผิด ๆ จากความไม่รู้ หรือไม่เข้าใจ ซึ่งจะสร้างความเสียหาย ทำให้ได้รับผลตอบแทนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

อ่านเพิ่มเติม: สร้างพอร์ตการลงทุน

เรื่องที่คล้ายกัน

Leave a Comment