5 ข้อมูลต้องรู้ ที่ Fund Fact Sheet บอกไว้ ก่อนลงทุนในกองทุนรวม

by kanlongthun
Fund Fact Sheet

สำหรับผู้ที่มีการเก็บออมเงิน และต้องการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนงอกเงย แต่มีเวลาในการติดตามข่าวสาร และวิเคราะห์ทิศทางการลงทุนจำกัด การลงทุนผ่านกองทุนรวม ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสม โดยก่อนพิจารณาเลือกกองทุนใดนั้น การอ่านหนังสือชี้ชวน หรือ Fund Fact Sheet เป็นการลงทุนอย่างแรกที่ผู้ต้องการลงทุนควรศึกษา เพื่อทำความเข้าใจในภาพรวมข้อมูลต่างๆ สำหรับนำมาวางแผนให้เหมาะสมกับความต้องการ ความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ และความคาดหวังต่อผลตอบแทนที่จะได้รับ

โดย Fund Fact Sheet จะบอกอะไรบ้าง มาเรียนรู้ ทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันได้เลย  

1. กองทุนที่จะลงทุนเป็นกองทุนประเภทใด 

ข้อมูลแรกที่หนังสือชี้ชวน หรือ Fund Fact Sheet จะระบุไว้ให้ผู้ต้องการลงทุนทราบก็คือกองทุนนี้เป็นกองทุนประเภทใด ซึ่งมีตั้งแต่ ประเภทกองทุนรวมตราสารทุน กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมต่างประเทศ กองทุนรวมผสม กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ รวมไปถึงนโยบายการลงทุนที่แต่ละกองทุนเลือกใช้ ซึ่งมีทั้งกองเชิงรุก หรือ Active Fund กับกองเชิงรับ หรือ Passive Fund ซึ่งนโยบายการลงทุนจะมีผลต่อค่าธรรมเนียมด้วย  

2. กองทุนนี้เหมาะกับผู้ลงทุนแบบใด 

ข้อมูลต่อมา คือ การระบุกลุ่มเป้าหมายว่ากองทุนประเภทนี้ เหมาะกับพฤติกรรมนักลงทุนแบบใด เช่น เหมาะกับผู้ลงทุนที่สามารถรับความผันผวนของสินทรัพย์ที่กองทุนไปร่วมลงทุน โดยราคาอาจจะปรับตัวสูงขึ้น หรือลดลงจนต่ำกว่ามูลค่าที่ลงทุน และอาจจะทำให้ขาดทุนได้ รวมไปถึงไม่เหมาะสมต่อนักลงทุนประเภทใด เช่น ไม่เหมาะกับผู้ลงทุนคาดหวังจะได้รับผลตอบแทนที่แน่นอน หรือรักษาเงินต้นให้อยู่ครบ 

3. ข้อควรระวังเป็นพิเศษสำหรับผู้ต้องการลงทุน

สำหรับข้อมูลในหัวข้อนี้นับเป็นอีกส่วนที่ผู้ลงทุนควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะระดับความเสี่ยงที่จะส่งผลต่อการลงทุน เช่น กองทุนอาจจะไปลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุน โดยในหนังสือชี้ชวนนี้จะระบุความเสี่ยงของกองทุนไว้ ซึ่งมีตั้งแต่ระดับที่ 1 – 8 โดยก่อนพิจารณาตัดสินใจเลือกลงทุน ผู้ลงทุนต้องมีการประเมินความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ก่อนเสมอ 

4. ค่าธรรมเนียมในการลงทุน

ส่วนนี้จะแสดงผลค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ผู้จะเรียกเก็บจากผู้ลงทุน โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุนรวม เป็นค่าใช้จ่ายที่คิดเป็นเปอร์เซนต์ต่อปีของ NAV โดยจะมีการคำนวณเป็นรายวัน ก่อนจะมีการประกาศยอด NAV ประจำวัน ส่วนค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากนักลงทุนโดยตรง จะเป็นค่าธรรมเนียมที่นักลงทุนมีการดำเนินการทำรายการซื้อ ขาย สับเปลี่ยนกองทุน 

5. ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของกองทุน

ส่วนข้อมูลสุดท้าย จะเป็นรายงานแสดงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของกองทุนเปรียบเทียบกับตัวชี้วัดต่าง ๆ โดยจะมีการย้อนหลังไปตั้งแต่ 6 เดือน จนถึง 10 ปี ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีการจัดตั้งกองทุนรวมขึ้นมา  โดยการพิจารณาเปรียบเทียบผลการดำเนินงานนั้น ต้องพิจารณากองทุนที่มีการลงทุนในสินทรัพย์รูปแบบเดียวกัน และในช่วงเวลาเดียวกัน จึงจะสามารถเปรียบเทียบได้ชัดเจน

การอ่านข้อมูลต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน อย่างละเอียดรอบคอบ จะเป็นตัวช่วยอย่างดีที่จะทำให้นักลงทุนหน้าใหม่ ได้กลั่นกรองคัดเลือกกองทุนได้เหมาะสมกับพฤติกรรมการลงทุน รวมไปถึงระดับความเสี่ยงที่สามารถรับได้ และผลตอบแทนที่เหมาะสมสอดคล้องกับเป้าหมายทางด้านการเงิน โดยผู้ลงทุนสามารถดาวน์โหลดหนังสือชี้ชวนได้จากทั้งของแต่ละบลจ. และเว็บไซต์ของผู้บริการโบรกเกอร์ซื้อขายกองทุน 

อ่านเพิ่มเติม: 4 เทคนิคสุดเจ๋ง จัดพอร์ตกองทุนรวมให้โดนใจ พิชิตกำไรก้อนโต

เรื่องที่คล้ายกัน

Leave a Comment