
การที่เรามีเงินเท่าเดิม แต่ซื้อของได้จำนวนน้อยลง บ่งบอกให้เรารู้ว่า เรากำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ ที่ราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ ขยับตัวสูงขึ้น สวนทางกับรายได้ที่มีเท่าเดิม ซึ่งนั้นเท่ากับว่าเรามีฐานะที่จนลง ทางออกของเรื่องนี้ มีเพียงการลงทุนให้เอาชนะเงินเฟ้อเท่านั้น โดยการฝากเงินกับธนาคารในปัจจุบัน ซึ่งได้ดอกเบี้ยเพียงไม่ถึง 1 เปอร์เซนต์ กลับไม่ได้ช่วยให้ชนะเงินเฟ้อที่สูงถึง 2 – 3 เปอร์เซนต์ได้
แล้วจะมีสินทรัพย์แบบไหนที่ลงทุนแล้วสามารถเอาชนะเงินเฟ้อ สร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่ากันบ้าง มาติดตามกันได้เลย
1. ลงทุนผ่านกองทุนรวม
สำหรับผู้ที่ทำงานประจำ เป็นมนุษย์เงินเดือน การลงทุนที่น่าจะเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ และเวลาที่มีจำกัด ก็คือ การให้เงินทำงานผ่านกองทุนรวม ซึ่งมีด้วยกันหลากหลายประเภท ทั้งกองทุนรวมตราสารเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนประเภทลดหย่อนภาษีได้อย่าง RMF SFF รวมไปถึงกองทุนรวมต่างประเทศ ซึ่งแต่ละประเภทก็จะมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป และผลตอบแทนที่ได้รับก็ผันแปรไปตามระดับความเสี่ยงนั้นด้วย
2. ลงทุนในหุ้นรายตัว
สำหรับผู้ที่มีพื้นฐานความเข้าใจในสินทรัพย์ประเภทหุ้น การลงทุนผ่านหุ้นรายตัว ทั้งแบบนักลงทุนหุ้นคุณค่า หรือ VI หรือการเก็งกำไรจากส่วนต่างราคาที่ขึ้นลง ก็เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ที่มีเวลา และมีการศึกษาเรียนรู้ด้านการเทรดหุ้นมาพอสมควร โดยจะหากลงทุนระยะยาว และเลือกหุ้นที่มีโอกาสเติบโต ก็จะได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยสูงราว 5 – 6 เปอร์เซนต์ต่อปีเลยทีเดียว
3. ลงทุนเก็งกำไรจากมูลค่าที่ดิน
ที่ดิน เป็นอีกสินทรัพย์ที่จะมีมูลค่าสูงขึ้นทุก ๆ ปี จากปริมาณที่มีจำกัด โดยหากเป็นทำเลที่ดี มีการคมนาคมที่สะดวก มีโครงการของภาครัฐ และเอกชนไปลงทุน ยิ่งจะทำให้มูลค่าที่ดินสูงขึ้นไปหลายเท่าตัว แต่ก็ต้องแลกมากับความเสี่ยงที่อาจจะไม่สามารถปล่อยขายได้ และต้องใช้ต้นทุนสูงในการซื้อ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีงบประมาณในการลงทุนสูงเท่านั้น โดยจะได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยราว 6 เปอร์เซนต์ต่อปี
4. ลงทุนในทองคำ
หนึ่งในสินทรัพย์ที่คนนำมาเก็งกำไรกันมากที่สุด คงไม่พูดถึงทองคำไม่ได้ ถือเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย และมีมูลค่าในตัวเอง รวมทั้งทุกประเทศให้การยอมรับ เป็นสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนได้เฉลี่ยราว 6 เปอร์เซนต์ ซึ่งหากซื้อไว้ก็เป็นอีกหนึ่งในทางเลือกในการกระจายความเสี่ยงจากสินทรัพย์ประเภทอื่น รวมถึงเพื่อเป็นการลงทุนให้ชนะเงินเฟ้อก็ถือว่าเหมาะสมอย่างยิ่ง
5. ลงทุนทำธุรกิจ
หนึ่งในรูปแบบของการนำเงินมาต่อเงินก็คือ การนำเงินมาลงทุนในการทำธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่คิดค้นพัฒนาสินค้าและบริการขึ้นมาด้วยตนเอง หรือการไปซื้อกิจการเฟรนไชน์ที่เป็นที่รู้จัก และได้รับความนิยม แต่การทำธุรกิจก็เป็นสิ่งที่มีความเสี่ยงสูง มีปัจจัยแวดล้อมหลายด้านที่มากระทบ และยังต้องใช้เงินลงทุนที่ค่อนข้างเยอะ การลงทุนรูปแบบนี้จึงต้องคิดให้รอบคอบก่อนการตัดสินใจ
ในอนาคตอัตราเงินเฟ้อน่าจะยิ่งขยับสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ การเก็บเงินไว้อย่างเดียว โดยไม่นำไปลงทุนอะไรเลย ก็คงทำให้เงินที่มีอยู่เดิมมีมูลค่าลดลง เท่ากับว่าเราจะจนลงไปเรื่อย ๆ นอกจากออมเงินจนเป็นวินัยแล้ว การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงในระดับที่รับได้ ก็จะช่วยให้เงินที่เรามี ชนะเงินเฟ้อ และช่วยสร้างความมั่นคง มั่งคั่งให้แก่เราได้ในระยะยาว
อ่านเพิ่มเติม: 5 แนวทางสร้างรายได้และออมเงินในวัยเรียน ที่นักศึกษาทำได้จริง