
การทำธุรกิจจะรุ่งเรือง มียอดขาย สร้างกำไรได้อย่างถล่มทลายได้นั้น ลำพังใช้ศักยภาพขององค์กรแต่เพียงอย่างเดียวอาจจะไปไม่ถึงเป้าหมาย เนื่องด้วยต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลในการลงทุน จ้างพนักงานเพิ่ม ต้องพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่ทันสมัยเพื่อนำมาใช้กับธุรกิจ แต่หากไม่มีต้นทุนเหล่านี้มากเพียงพอ ก็ยังมีอีกหนึ่งทางออกที่จะตอบโจทย์เรื่องนี้ นั่นก็คือ การมองหาPartner ทางธุรกิจที่จะร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือกลบจุดอ่อน หนุนจุดแข็ง จนสามารถต่อสู้กับคู่แข่งได้อย่างไม่เป็นสองรองใคร หนุนให้สามารถขยายตลาด สร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ได้หลากหลาย กอบโกยรายได้ สร้างคุณค่าแบบ Win – Win
ซึ่งสำหรับธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น อาจจะยังไม่มีลู่ทางหรือวิธีการ มาเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อหา Partner ทางธุรกิจที่ดีได้กับ 4 เทคนิคที่นำมาบอกเล่ากันนี้
1. มองหาคู่ค้าที่มีศักยภาพทางธุรกิจตอบโจทย์ซึ่งกันและกัน
แต่ละองค์กรย่อมมีศักยภาพด้านสินค้าและบริการที่แตกต่างกันไป การมองหา Partnerทางธุรกิจ จึงต้องเฟ้นหาบริษัทที่มีธุรกิจซึ่งองค์กรยังขาด หรือยังสามารถทำได้ไม่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอ ที่จะไปต่อสู้กับคู่แข่งได้ โดยควรเริ่มต้นจากการค้นหาข้อมูลของบริษัทเหล่านี้ลิสต์รายชื่อออกมาให้ได้มากที่สุด เพื่อนำมาเลือกกลุ่มที่มีความเป็นไปได้สูง และนำเบอร์ติดต่อมาโทรนัดหมายเพื่อพูดคุยกับผู้บริหารในการสร้างความร่วมมือทางการค้า แบ่งปันผลประโยชน์ที่ลงตัว
2. ร่วมพัฒนาโมเดลทางธุรกิจที่เสริมจุดเด่นหนุนจุดด้อยอย่างลงตัว
การทำธุรกิจแน่นอนว่าทุกองค์กรต้องการเงิน หรือทรัพยากรที่จะนำมาต่อยอดในการขยายธุรกิจให้เติบโต การมองหา Partnerทางธุรกิจ จึงต้องมีการพัฒนาโมเดลทางธุรกิจที่มีความสอดคล้องเหมาะสมซึ่งกันและกัน โดยอาจจะเป็นการเสนอผลประโยชน์ให้กับคู่ค้า เมื่อสามารถหาลูกค้าให้กับธุรกิจได้ หรือการขายสินค้าหรือบริการให้กับคู่ค้าเพื่อให้บริษัทเหล่านั้นนำไปสร้างกำไรต่อหรือมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม หรือการนำศักยภาพของบริษัทคู่ค้าซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนแก่ธุรกิจ ภายใต้ราคาที่มีความเหมาะสม
3. ลงนามในสัญญาคู่ค้าที่สร้างประโยชน์ต่อกัน
การทำสัญญาร่วมธุรกิจ ถือเป็นเอกสารยืนยันที่มีผลในเชิงกฏหมาย ซึ่งบ่งบอกถึงความเป็นมืออาชีพ และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำผิดสัญญา หลีกเลี่ยงหรือไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่เคยพูดจาตกลงกันไว้ การจัดทำเป็นเอกสารลายลักษณ์อักษรที่มีความชัดเจน ตรวจสอบย้อนหลังได้ จึงถือเป็นสิ่งที่ควรทำ และก่อนลงนามควรมีการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนว่าผลประโยชน์ที่แต่ละฝ่ายจะได้รับถูกต้องครบถ้วน ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบหรือเสียเปรียบ
4. มีระบบบริหารจัดการทางธุรกิจที่เป็นมืออาชีพ
เพื่อเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างบริษัทกับ Partner ทางธุรกิจ จำเป็นต้องมีการจัดเตรียมระบบบริหารจัดการทางธุรกิจที่มีความเป็นมืออาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำเงื่อนไขในการสร้างรายได้และมอบผลตอบแทนอย่างเป็นธรรม การจัดลำดับและให้ความสำคัญกับคู่ค้าตามศักยภาพและผลงานที่มีต่อกัน การจัดเตรียมทีมงานเพื่อช่วยเหลืออำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ แก่ Partner การทำกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกัน รวมถึงการมอบสิทธิพิเศษ หรือรางวัลต่าง ๆ แก่ผู้ที่ทำผลงานได้ยอดเยี่ยม
แม้ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งได้ไม่นาน แต่หากเป็นบริษัทที่มีศักยภาพโดดเด่น และตอบโจทย์ของคู่ค้า การมองหา Partner ทางธุรกิจก็ไม่ใช่เรื่องยากในการประสานความร่วมมือ เพื่อเสริมจุดแข็งปิดจุดอ่อนซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน และสามารถเอาตัวรอดได้ท่ามกลางสมรภูมิทางธุรกิจที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง
อ่านเพิ่มเติม: การลงทุนชี้จุดเสี่ยง 5 พฤติกรรมที่ทำให้คนทั่วไป ไม่ประสบความสำเร็จในการออม การลงทุน