
หากพูดถึงการลงทุน สำหรับสายมนุษย์เงินเดือนที่อยากลงทุนในหุ้น แต่ไม่มีเวลาเฝ้าหน้าจอรอเทรด กองทุนรวม ก็ถือเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม ที่จะให้เงินทำงาน สร้างผลกำไรที่พอกพูน โดยในตลาดมีสไตล์นักลงทุนที่หลากหลายแล้วแต่พฤติกรรม ลักษณะนิสัย และความถนัดของแต่ละคน ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะมีวิธีการลงทุนที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการทุ่มเทเงินออม และเสริมประสิทธิภาพให้ผลกำไรเติบโตสำเร็จตามเป้าหมาย ได้เวลามาหาเทคนิคใหม่ ๆ
ซึ่งจะมีสไตล์นักลงทุนกองทุนรวมอะไรน่าสนใจบ้าง มาติดตามกันได้เลย
1. สายเงินเย็น ถือยาว รอรับปันผล
มาลองดูกันดีกว่าว่าคุณคือนักลงทุนสายนี้หรือเปล่า ผู้ที่เป็นนักลงทุนสายเงินเย็น มักจะลงทุนเพื่อหวังสร้างกระแสเงินสดระหว่างทางผ่านเงินปันผล โดยมักจะเลือกลงทุนในกองทุนที่ไม่ค่อยมีความผันผวนในด้านราคามากนัก สามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลาง ซึ่งกองทุนที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนสายนี้ น่าจะเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIT ที่มีผลตอบแทนเติบโตไปตามสภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งยังสามารถเลือกได้ว่าจะลงในกอง REIT ที่ลงทุนในประเทศหรือต่างประเทศ
2. สายตามกระแส ขอคำแนะนำไปเรื่อย
ถือเป็นอีกกลุ่มนักลงทุนที่มีค่อนข้างมากในตลาด ซึ่งเป็นผู้สนใจนำเงินออมมาลงทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนให้เติบโตมากขึ้น มีการศึกษาความรู้ด้านการลงทุนมาพอสมควร แต่ก็อาจจะยังไม่ค่อยมั่นใจในการตัดสินใจของตนเอง จึงมักจะขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ หรือคนที่ลงทุนในสไตล์เดียวกัน และมักจะลงทุนตามเทรนด์ สำหรับนักลงทุนกลุ่มนี้ แนะนำว่าควรเรียนรู้ต่อเนื่อง ไปพร้อม ๆ กับการฝึกฝนการลงทุน เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ โดยการหาประเภทกองทุนที่ตอบโจทย์เป้าหมาย และประเมินผลเป็นระยะ
3. สายเก็งกำไร ชอบจับจังหวะซื้อขาย
นักลงทุนสไตล์นี้ มักมีเวลาพอสมควรในการติดตามข่าวสาร วิเคราะห์ทิศทางการเติบโตของหุ้นแต่ละกลุ่ม มีการสับเปลี่ยนกองทุนให้สอดรับกับเป้าหมายและเทรนด์อย่างสม่ำเสมอ แต่ก็ต้องระมัดระวังความผันผวนที่เกิดขึ้น และการตัดสินใจที่ผิดพลาด กองทุนที่เหมาะกับนักลงทุนกลุ่มนี้น่าจะเป็นกองทุน Active Fund ที่มุ่งลงทุนเพื่อให้ชนะดัชนี และมีผลกำไรที่เติบโตเหนือกว่าสภาวะตลาด
4. สายประหยัดภาษี
สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่อปีค่อนข้างสูง มองหาเครื่องมือที่จะช่วยลดอัตราภาษีที่ต้องจ่าย แถมยังได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า กองประหยัดภาษีจึงเป็นเป้าหมายที่กลุ่มนี้เลือกลงทุน ไม่ว่าจะเป็นกอง SSF หรือ RMF ที่สามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีรายได้บุคคลธรรมดาได้ แต่หากลงเฉพาะกลุ่มนี้กลุ่มเดียว อาจจะทำให้มีความเสี่ยงที่สูงขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง ควรมีการคัดสรรกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ยังได้ผลตอบแทนที่น่าพอใจ เช่น กองทุนตราสารหนี้ กองทุนตราสารเงิน หรือ กองผสม มารวมอยู่ในพอร์ตด้วยก็รักษาระดับความเสี่ยงไม่ให้สูงเกินไปได้
ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนกองทุนรวมสไตล์ไหน สิ่งสำคัญที่เป็นพื้นฐานก็คือ การทำความเข้าใจต่อเป้าหมายการลงทุนของตนเอง และเริ่มลงทุนในการสร้างความรู้ความเข้าใจในประเภทกองทุนที่จะลงทุน ก่อนตัดสินใจเลือกลงทุน เพื่อวางแผนในการกระจายความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ต้องแบกความทุกข์ใจ กลัวที่จะเสียเงินต้นไป จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ ปรับมาเป็นเลือกกองทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้จะสบายใจกว่า
อ่านเพิ่มเติม: สรุป 5 ขั้นตอน สร้างวัฒนธรรมองค์กรอย่างไร ให้มั่นคงและยั่งยืน