
เส้นทางของการลงทุน กว่าจะก้าวไปถึงเส้นชัยในการสร้างความมั่งคั่งทางการเงิน จนมีอิสรภาพได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยทั้งความใส่ใจ วินัยในการลงทุน ระยะเวลา รวมไปถึงการหมั่นติดตามปรับเปลี่ยนการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อให้สอดคล้องต่อเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ โดยนักลงทุนหลาย ๆ คน อาจจะพอที่จะมีความรู้ในการลงทุน แต่อาจจะยังขาดความรู้ในด้านการติดตามผล ซึ่งหากขาดไป ก็อาจจะทำให้ไม่สามารถทำกำไร สร้างผลตอบแทนได้ตามที่มุ่งหวัง หรืออาจจะถึงขั้นทำให้ขาดทุน สูญเสียเงินต้นได้ โดยการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน หรือ Dollar Cost Average (DCA) เป็นอีกหนึ่งทางออกที่ป้องกันความเสี่ยงได้ ซึ่งแม้ว่าจะกระจายสินทรัพย์ไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมและประเทศที่หลากหลาย การติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ ก็ยังมีความจำเป็น โดยจะมีวิธีตรวจสอบอย่างไร
มาเรียนรู้การติดตามผลการลงทุนและทำความเข้าใจไปด้วยกัน
1. คำนวณผลตอบแทนลงทุนแบบ DCA ด้วยวิธี IRR
สำหรับการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยรายเดือน หรือ DCA นั้น อาจจะใช้วิธีคำนวณผลตอบแทนเฉลี่ยรายปี เหมือนเช่นที่ลงทุนด้วยเงินก้อนครั้งเดียวไม่ได้ วิธีที่เหมาะสมก็คือการคำนวณด้วยระบบ Internal Rate Of Return หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า IRR ทำให้ได้อัตราผลตอบแทนของเงินทุก ๆ ยอดที่เฉลี่ยลงทุนไปในแต่ละเดือน ที่นำมาเฉลี่ยกันแบบอัตราทบต้น ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่า เงินลงทุนบางเดือนอาจจะได้กำไร บางเดือนอาจจะขาดทุน ซึ่งจะเป็นยอดรวมที่สะท้อนผลลัพธ์ของการลงทุนที่ผ่านมาตลอดทั้งปีได้ดีกว่า
2. เหตุผลที่ลงทุนแล้วไปไม่ถึงเป้าหมาย
หลายครั้งที่นักลงทุนซึ่งมีวินัยในการ DCA มาตลอด แต่เมื่อผ่านไปสักระยะกลับไม่ได้ติดตามผล ทิ้งเป้าหมาย ยุติการลงทุน จนถึงขั้นขายกองทุน หรือหุ้นที่มีอยู่ออกไป เพราะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งมาจากหลาย ๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเกิดจากสภาพจิตใจที่อ่อนไหวต่อสถานการณ์ได้ง่าย ไม่ว่าจะมาจากสถานการณ์ที่ผันผวน การขึ้นลงของตลาดที่รุนแรง ทำให้บางครั้งก็รีบขายไป โดยที่ตลาดยังขึ้นไปได้อีก หรือบางครั้งก็ทนขาดทุนไม่ไหว ขายทิ้งไปก่อน เพราะไม่คิดว่าตลาดจะกลับมาดีในภายหลัง
3. เปรียบเทียบผลตอบแทนที่ได้รับกับเกณฑ์มาตรฐานในกลุ่มหุ้น หรือกองทุนเดียวกัน
การจะขายกองทุน เพื่อนำเงินออกมาใช้นั้น สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ สิ่งที่ลงทุนไปนั้นได้สร้างผลตอบแทน เมื่อเทียบกับดัชนีหรือเกณฑ์มาตรฐานในหุ้น หรือกองทุนประเภทเดียวกันแล้ว มีค่าเป็นอย่างไร สูงกว่า ต่ำกว่า หรือใกล้เคียง หากผลตอบแทนที่ทำได้ ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ก็อาจจะต้องดำเนินการศึกษาหาแนวทาง เพื่อปรับเปลี่ยนไปลงทุนยังสินทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือกองทุนประเภทอื่น ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า
4. ตรวจสอบว่าผลตอบแทนที่ได้รับเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้
อีกหนึ่งปัจจัยที่ใช้วัดผลว่าจะขายสินทรัพย์นั้นได้แล้วหรือไม่ ก็คือ สามารถทำกำไรได้ถึงเป้าหมายที่ต้องการแล้วหรือยัง เช่น การเก็บเงินเพื่อซื้อบ้าน ซื้อรถ เป็นทุนการศึกษา หากได้เงินครบตามที่มุ่งหวังแล้ว ก็สามารถเลือกนำเงินนั้นไปใช้ประโยชน์ตามสิ่งที่ต้องการได้ หรือหากเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ ก็ควรจะพิจารณาวางแผนการลงทุนให้สอดคล้องต่อเป้าหมายที่เปลี่ยนแปลง เพื่อให้สอดคล้องต่อสถานการณ์
5. ตรวจสอบความสมดุลของเงินลงทุน และอัตราส่วนความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ
การติดตามผลการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เป็นการช่วยให้สามารถตรวจเช็คได้ว่าพอร์ตการลงทุนมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรแล้วบ้าง มีเงินเพิ่มขึ้น หรือลดน้อยลง ในสัดส่วนการลงทุนประเภทต่าง ๆ อย่างไร ซึ่งหากมีเงินกระจายไปอยู่ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมากเกินไป ก็จำเป็นต้องปรับลดสัดส่วนให้เกิดความสมดุล เพื่อป้องกันเหตุที่ไม่คาดคิด ซึ่งอาจจะทำให้สูญเสียเงินลงทุนไปโดยไม่ทันตั้งตัวได้
แม้ว่าการลงทุนในรูปแบบ DCA จะเป็นการตัดเงินลงทุนอัตโนมัติเพื่อป้องกันการลืม แต่สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนไม่ควรจะละเลย เมื่อครบกำหนดเวลาก็คือ การติดตามและประเมินผลจากการลงทุน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการเงินลงทุนให้เกิดความเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และสามารถตอบโจทย์ต่อเป้าหมายด้านการลงทุนที่ตั้งใจไว้ ซึ่งจะทำให้การลงทุนเกิดความคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ลงทุนนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม: สินทรัพย์น่าลงทุน