
การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือที่เรามักเรียกกันง่าย ๆ ว่า “การลงทุนในหุ้น” ถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการออมเงินในระยะยาวที่น่าสนใจ ซึ่งสามารถสร้างผลกำไร เอาชนะเงินเฟ้อได้ โดยในตลาด หลักทรัพย์ หรือตลาดหุ้นนั้น มีสินค้าที่พร้อมให้นักลงทุนที่มีเงินเก็บมาเลือกซื้อเพื่อเป็นหุ้นส่วนในกิจการต่าง ๆ ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาด หลักทรัพย์ ซึ่งความรู้ความเข้าใจในสินค้าเหล่านี้นี่เอง ที่จะเป็นตัวสร้างกำไรให้กับนักลงทุนได้
โดยเราได้สรุปข้อมูลสินค้าในตลาดหลักทรัพย์มาให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจ ไปติดตามพร้อม ๆ กันเลย
1. หุ้นสามัญ
หุ้นชนิดนี้ถือเป็นหุ้นที่นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดซื้อขายกันอยู่ และมีจำนวนมากถึง 80 เปอร์เซนต์ของหุ้นในตลาดทั้งหมด โดยหุ้นประเภทนี้เป็นตราสารทุนที่ออกโดยบริษัทมหาชนที่ต้องการระดมทุน โดยผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในรูป เงินปันผลจากกำไรในธุรกิจ กำไรจากการขายหุ้นหากราคาหุ้นมีการปรับตัวสูงขึ้น
2. หุ้นบุริมสิทธิ
สำหรับหุ้นประเภทนี้จะมีส่วนคล้ายกับหุ้นสามัญ แตกต่างกันตรงผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะได้รับสิทธิในการชำระคืนเงินทุนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญในกรณีที่บริษัทประกาศเลิกกิจการ โดยเป็นหุ้นที่มีไม่มากนักในตลาด หลักทรัพย์ มีการซื้อขายกันน้อย จึงมีสภาพคล่องต่ำ โดยสังเกตง่ายๆ จะมีสัญลักษณ์-P ท้ายอักษรตัวย่อหุ้นสามัญ
3. หุ้นกู้
อยู่ในรูปของตราสารที่บริษัทเอกชนออกเพื่อกู้เงินระยะยาวจากผู้ลงทุน โดยผู้ซื้อจะอยู่ในสถานะเจ้าหนี้ของกิจการนั้น ๆ และบริษัทเหล่านั้นต้องจ่ายผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยคืนแก่ผู้ซื้อหุ้นกู้ตามอัตราดอกเบี้ยที่กำหนด ผู้ถือครองหุ้นกู้จะได้รับเงินต้นคืนทั้งหมด เมื่อสิ้นสุดอายุสัญญาตามที่ระบุไว้ในเอกสาร
4. หุ้นกู้แปลงสภาพ
หุ้นกู้ประเภทนี้คล้ายคลึงกับหุ้นกู้ทั่วไป แตกต่างกันตรงที่หุ้นกู้แปลงสภาพจะมีสิทธิที่จะแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญภายในช่วงเวลาและราคาที่หนังสือชี้ชวนกำหนด โดยในช่วงสภาวะที่เศรษฐกิจค่อนข้างดี หุ้นประเภทนี้จะได้รับความนิยมสูง เนื่องจากนักลงทุนคาดหวังผลกำไรที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อหุ้นกู้แปลงสภาพกลายเป็นหุ้นสามัญ
5. ใบสำคัญแสดงสิทธิ
ถือเป็นตราสารที่ระบุว่าผู้ถือครองจะได้รับสิทธิในการจองซื้อหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หุ้นกู้ หรือตราสารอนุพันธ์ในราคาที่กำหนดเมื่อถึงเวลาระบุไว้ โดยราคาจองซื้อมักจะกำหนดราคาไว้ต่ำ หรือบางครั้งอาจจะได้รับหุ้นสามัญโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลยก็มี โดยตราสารชนิดนี้มักจะออกมาควบคู่การการประกาศเพิ่มทุนของบริษัทมหาชน
6. ใบสำคัญแสดงสิทธิระยะสั้น
ใบแสดงสิทธิชนิดนี้จะมีอายุไม่เกิน 2 เดือน และถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการระดมทุนจากผู้ถือหุ้น แทนการจัดสรรสิทธิในการจองซื้อหุ้น และบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์สามารถยื่นคำขอให้รับเป็นหลักทรัพย์ประเภทที่ซื้อขายหมุนเวียนกันในตลาด หลักทรัพย์ได้
7. ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์
ถือเป็นตราสารที่มีความคล้ายคลึงกับใบสำคัญแสดงสิทธิทั่วไป โดยจะให้สิทธิแก่ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ในการซื้อหรือขายหลักทรัพย์อ้างอิง ซึ่งอาจเป็นหลักทรัพย์ หรือดัชนีหลักทรัพย์ในราคาใช้สิทธิ อัตราการใช้สิทธิ และระยะเวลาใช้สิทธิที่กำหนดไว้ โดยบริษัทผู้ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์จะคืนผลตอบแทนเป็นหลักทรัพย์หรือเป็นเงินสดก็ได้
8. หน่วยลงทุน
เป็นตราสารที่ออกโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ในรูปของหน่วยลงทุนกองทุนรวม ซึ่งถือเป็นการระดมทุนรูปแบบหนึ่ง โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจะเป็นผู้บริหารกองทุนให้ได้รับผลตอบแทนสูงสุด แล้วจะนำมาเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในรูปของเงินปันผล
สำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการเลือกลงทุน สามารถพิจารณาได้จากเงินปันผลและดอกเบี้ย ระดับความเสี่ยง สภาพคล่อง การปรับตัวของราคาสินทรัพย์ รวมไปถึงสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่จะได้รับ สิ่งสำคัญที่สุดคือการลงทุนด้วยความรู้ จากศึกษาให้เกิดความเข้าใจ เพราะการลงทุนในทุกสินทรัพย์มีความเสี่ยงและจะได้รับผลตอบแทนที่แตกต่างกันไป
อ่านเพิ่มเติม: เช็คก่อนรวย 6 สภาวะการเงินพื้นฐาน เพื่อการมีสุขภาพการเงินที่ดี