
สำหรับนักลงทุนแล้ว ทุกคนต่างคาดหวังที่จะได้กำไรอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่บางครั้งก็อาจจะละเลยไปว่า ไม่ใช่เพียงแค่การเลือกกองทุนที่ดี มีศักยภาพในการเติบโตเท่านั้น เรื่องค่าใช้จ่าย หรือค่าธรรมเนียมกองทุนที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือบลจ. เรียกเก็บ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์ต่อผลกำไรไม่แพ้กัน เพราะค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นเพียงนิด แต่มีการเก็บซ้ำ ๆ หลายๆ รอบตามจำนวนการซื้อ – ขาย หรือสับเปลี่ยน รวมกันแล้วก็กลายเป็นจำนวนเงินที่ไม่น้อยได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น ก่อนพิจารณาเลือกซื้อกองทุนใด จึงควรเข้าใจก่อนว่า บลจ. มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมประเภทใดบ้าง จำนวนเท่าไหร่ เพื่อจะได้นำไปเปรียบเทียบกับกองทุนรวมอื่น ๆ และตัดสินใจเลือกกองทุนที่มีภาพรวมดีที่สุดเข้ามาอยู่ในพอร์ต
ค่าธรรมเนียมกองทุน ที่มือใหม่ควรรู้ ก่อนซื้อกองทุนรวม
1. ค่าธรรมเนียมในการซื้อ และขายกองทุนรวม
หนึ่งในค่าธรรมเนียม ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่นักลงทุนจะถูกหักจากเงินที่นำมาลงทุน นั่นก็คือ ค่าธรรมเนียมในการซื้อและการขาย ทุกครั้งที่มีการทำรายการซื้อ ไม่ว่าจะในรูปแบบซื้อเอง หรือหักอัตโนมัติแบบ DCA ก็จะมีการหักค่าธรรมเนียม ตามจำนวนเปอร์เซนต์ต่อยอดชำระรายการซื้อ และเมื่อทำรายการขายคืนก็เช่นเดียวกัน ซึ่งนั่นเท่ากับว่า ในทุกครั้งที่เราซื้อ หรือขาย เราจะไม่ได้รับยอดเต็มจำนวนที่เราทำรายการไป และยิ่งเราซื้อหรือขายบ่อย ก็ยิ่งทำให้เราต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น และทำให้มูลค่าเงินที่เราลงทุนลดลงมากขึ้นไปด้วย
2. ค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการกองทุน
ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ บลจ. ซึ่งเป็นผู้บริหารเงินที่เรานำไปลงทุนนั้นจะมีค่าใช่จ่ายต่าง ๆ ทั้งค่าจ้างผู้จัดการกองทุน ค่าผู้ดูแลผลประโยชน์ ค่านายหน้าในการขาย ค่าใช้จ่ายนายทะเบียน ค่ารับฝากสินทรัพย์ ซึ่งแหล่งรายได้ที่ บลจ. จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ก็มาจากค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการกองทุนนี่เอง โดยจะเป็นค่าใช้จ่ายที่มีการเรียกเก็บเป็นรายปี อยู่ที่ประมาณ 1 – 1.5 % ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะถูกหักออกจากมูลค่าทรัพย์สินแบบรายวัน และแสดงผลเป็นยอด NAV ที่เรารู้จักกันนั่นเอง
3. ค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหลักทรัพย์ของกองทุน
การทำหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ บลจ. ก็เหมือนนักลงทุนหุ้นทั่วไป ที่มีการศึกษาข้อมูล วิเคราะห์กราฟ และคัดสรรหุ้นดี ๆ มาอยู่ในพอร์ตการลงทุน เพียงแต่บลจ. จะมีทีมผู้เชี่ยวชาญที่คอยทำหน้าที่เหล่านี้ และมีการติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยในทุกครั้งที่มีการซื้อขาย บลจ. ก็จะต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่นให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ หรือ บล. ที่ทำการซื้อหรือการขาย ซึ่งเงินก็จะถูกหักไปจากมูลค่าทรัพย์สิน การซื้อขายบ่อย ๆ จึงไม่เป็นผลดีต่อการทำกำไรของกองทุนรวม ซึ่งจะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
4. ค่าใช้จ่ายในการหักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อมีการจ่ายปันผล
แน่นอนว่าทุกครั้งที่มีรายได้เข้าเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษี ก็จำเป็นต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฏหมาย การลงทุนผ่านกองทุนรวมก็เช่นเดียวกัน จะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย สำหรับกองทุนรวมที่มีการจ่ายปันผลจากเงินกำไรที่กองทุนสามารถสร้างได้ โดยจะมีค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่าย ร้อยละ 10 ของยอดปันผลที่ได้รับ ซึ่งค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ก็จะมีผลทั้งส่วนของการนำเงินไปลงทุนต่อยอด และผลตอบแทนโดยรวมในระยะยาวด้วย
แม้ว่าเรื่องตัวเลขจะเป็นเรื่องที่น่าปวดหัว สำหรับคนที่ไม่ถนัด แต่เรื่องค่าธรรมเนียม ก็มีความสำคัญไม่น้อย ที่ต้องนำมาใช้เป็นปัจจัยในการพิจารณาประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อกองทุน เพราะค่าธรรมเนียมที่ดูเผิน ๆ ว่าต่างกันเพียงนิด แต่เมื่อรวมกันหลาย ๆ ยอด ก็จะกลายเป็นรายจ่ายก้อนโต ที่ทำให้เงินลงทุนเราลดน้อยลง และนั้นหมายถึง กำไรส่วนต่างที่จะได้รับก็ย่อมลดต่ำลง ความมั่นคงทางการเงินที่คาดหวังไว้ก็จะเป็นเป้าหมายที่ไกลตัวขึ้นไปด้วย
อ่านเพิ่มเติม: หุ้นพื้นฐานดี