
หลังจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF สิ้นสุดการได้รับสิทธิในการนำมาลดหย่อนภาษีในปี 2562 รัฐบาลก็ได้มีการออกนโยบายพัฒนากองทุนชนิดใหม่ขึ้นมาทดแทน โดยเป็นกองทุนส่งเสริมการออมระยะยาว (Super Saving Fund) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า กองทุน SSF ซึ่งถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกสำหรับผู้ที่หวังผลในการนำมาใช้ลดหย่อนภาษี และยังได้รับประโยชน์จากผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น โดยกองทุนชนิดนี้มีความแตกต่างกับกองทุนชนิดอื่นอย่างไร ใครที่เหมาะ และไม่เหมาะกับการลงทุน
การลงทุนในสินทรัพย์ชนิดนี้มีความเสี่ยงระดับใดบ้าง มาเรียนรู้ และทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กัน
1. ความแตกต่างระหว่างกองทุน SSF และ LTF ต่างกันอย่างไร
จากที่กล่าวไปตอนต้นว่ากองทุนSSF เป็นกองทุนที่ได้รับการออกแบบและพัฒนาขึ้นมาทดแทนกองทุน LTF โดยความต่างอยู่ตรงที่ LTF จะเน้นลงทุนในหุ้นเป็นหลัก ส่วน SSF จะลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท ส่วนเงื่อนไขการซื้อนั้น LTF กำหนดให้ซื้อได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ทั้งปี และไม่เกิน 500,000 บาท แต่ SSF กำหนดให้ซื้อได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี และไม่เกิน 200,00 บาท ซึ่งเมื่อนำไปรวมกับกองทุนออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ เช่น RMF กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนการออมแห่งชาติแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
2. ความแตกต่างระหว่างกองทุนSSF และ RMF ต่างกันอย่างไร
สำหรับกองทุนSSF และ RMS ซึ่งอยู่ในกองทุนประเภทที่ใช้สิทธิเพื่อลดหย่อนภาษีได้เหมือนกันนั้น ก็มีเงื่อนไขบางอย่างที่แตกต่างกันพอสมควร โดยเงื่อนไขการซื้อ RMF กำหนดให้ซื้อได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปีเช่นเดียวกับ SSF แต่ของ SSF มีกำหนดเพิ่มเติมว่ายอดรวมต้องไม่เกิน 200,000 บาท ส่วนเมื่อนำมารวมกับกองทุนออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท เช่นเดียวกัน สำหรับเงื่อนไขการนำไปลดหย่อนภาษีนั้น SSF ใช้ลดหย่อนได้ระหว่างปี 2563 – 2567 ส่วน RMF นำไปลดหย่อนได้แบบปีต่อปี สำหรับการถือครอง SSF กำหนดให้ต้องถือครบ 10 ปี แบบวันชนวัน ส่วน RMF กำหนดให้ถือครบอายุ 55 ปี และ 5 ปีต่อเนื่องแบบวันชนวัน
3. ผู้ลงทุนแบบไหนที่เหมาะจะลงทุนผ่านกองทุนSSF
ก่อนการตัดสินใจลงทุนการพิจารณาความเหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญ โดยผู้ที่มีเกณฑ์เหมาะสมจะลงทุนในกองทุนSSF นั้น ควรเป็นผู้ที่มีฐานภาษีที่หักค่าลดหย่อนต่างๆแล้วเกินกว่า 150,000 บาท เป็นผู้ที่ไม่ต้องการลงทุนในกองทุน RMF ที่ต้องใช้ระยะเวลาในการถือครองนานกว่า โดยผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปี การลงทุนผ่าน SSF จะสามารถขายคืนกองทุนได้เร็วกว่า และเป็นผู้ที่หวังที่จะกระจายความเสี่ยงการลงทุนไปยังสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ตามความเหมาะสมในการรับความเสี่ยงได้
4. ผู้ลงทุนแบบใดที่ไม่เหมาะจะลงทุนผ่านกองทุน SSF
ผู้ที่มีฐานภาษีน้อย ที่ 5% หรือ 10% การใช้สิทธิลดหย่อนประเภทอื่น เช่น การซื้อประกันชีวิต การนำเงินกู้เพื่อการซื้อบ้าน การดูแลอุปการะพ่อแม่ และลูก มาใช้ลดหย่อนน่าจะเพียงพอ รวมไปถึงผู้ที่ไม่ต้องการรับความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดหุ้น ที่อาจจะสูญเสียเงินต้นได้ รวมทั้งผู้ที่มีความสามารถในการลงทุนผ่านสินทรัพย์ประเภทอื่นที่ได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า บุคคลที่เข้าเกณฑ์เหล่านี้ก็อาจจะไม่เหมาะในการลงทุนผ่านกองทุนSSF
5. กองทุนSSF มีความเสี่ยงแบบใดบ้าง
ในการลงทุน SSF ผู้ลงทุนสามารถเลือกประเภทสัดส่วนการลงทุนได้ตามระดับความเสี่ยงที่สามารถรับได้ ทั้งประเภทความเสี่ยงต่ำ เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล ส่วนผู้ที่มีอายุยังน้อย รับความเสี่ยงได้สูง ก็สามารถปรับสัดส่วนเน้นไปที่การลงทุนผ่านหุ้น ทั้งในและต่างประเทศ หรือจะเลือกรักษาสมดุล ด้วยกองผสม ที่มีความเสี่ยงในระดับปานกลางได้เช่นกัน
5 เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับกองทุนส่งเสริมการออมระยาวยาว หรือ SSF ที่นำมาบอกเล่ากันนี้ คงทำให้ผู้สนใจลงทุนเข้าใจในรายละเอียด และพิจารณาความเหมาะสมต่อการตัดสินใจเลือกลงทุนได้ดียิ่งขึ้น โดยเพื่อความแน่ใจ ควรเริ่มต้นด้วยการศึกษาข้อมูลจากหนังสือชี้ชวนให้เข้าใจก่อนที่จะนำเงินเก็บมาลงทุน ที่สำคัญควรพิจารณาถึงสัดส่วน ความจำเป็น และผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ให้สอดคล้องต่อสถานะทางการเงิน รวมไปถึงทิศทางการลงทุนในอนาคตด้วย
อ่านเพิ่มเติม: รู้แล้วเริ่ม 5 ขั้นตอน เลือกกองทุน SSF อย่างไร ให้ตอบโจทย์เป้าหมาย