
ในการลงทุน คงไม่มีใครอยากเจอกับปัญหาขาดทุนแบบหมดเนื้อหมดตัว แต่จะทำอย่างไร เมื่อความเสี่ยงจากปัจจัยต่าง ๆ มีอยู่รายล้อม ทั้งที่รู้ล่วงหน้า และที่ไม่รู้ จนไม่อาจจะรับมือได้ทัน การกระจายสินทรัพย์การลงทุนไปยังจุดต่าง ๆ ที่หลากหลาย สอดคล้องต่อเป้าหมาย และความคาดหวังที่จะได้ผลลัพธ์ตอบโจทย์ในแต่ละด้านของชีวิต จึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนทุกคนควรเรียนรู้ ทำความเข้าใจ กระจายความเสี่ยงการลงทุน และนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะต้องมีการวางแผนบริหารจัดการอย่างไร เพื่อไม่ให้กลายเป็นแมงเม่า
มาเรียนรู้กระจายความเสี่ยงการลงทุนไปด้วยกัน
1. ลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย กระจายหุ้นไปหลาย ๆ ตัว
ในโลกของการลงทุนมีสินทรัพย์ที่น่าสนใจมากมาย ทั้งในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีทั้งหุ้น กองทุนรวม ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ สินค้าโภคภัณฑ์ ทองคำ น้ำมัน ฯลฯ ซึ่งเป็นทางเลือกที่หลากหลายที่นักลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลและพิจารณาตัดสินใจลงทุนในกลุ่มที่ตัวเองต้องการ และมีผลกำไรที่เหมาะสม โดยไม่ควรเจาะกลุ่มไปยังประเภทสินทรัพย์ชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป เพราะหากเกิดวิกฤติ หรือปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้น อาจจะต้องเผชิญกับการขาดทุนได้แบบไม่ทันตั้งตัว
2. กระจายการลงทุนไปยังประเทศที่น่าสนใจ ในสินทรัพย์ประเภทเดียวกัน
แม้ว่าจะเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความหลากหลาย กระจายความเสี่ยงได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่หากเป็นการลงทุนเพียงในประเทศอย่างเดียว หากเกิดปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ โรคระบาด ฯลฯ ขึ้นในไทย ซึ่งย่อมส่งผลต่อตลาดหลักทรัพย์เป็นเรื่องธรรมดา ก็อาจจะเสี่ยงทำให้สูญเสียเงินไปกับสินทรัพย์ประเภทนั้นได้เช่นกัน ทางที่ดี จึงควรขยายเป้าหมายไปลงทุนในประเทศอื่น ๆ เช่น จีน อเมริกา ยุโรป เวียดนาม ที่มีสภาพเศรษฐกิจที่แตกต่างออกไป เป็นช่องทางกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้อีกทาง
3. ลดผลกระทบความผันผวนในตลาด ด้วยการลงทุนแบบ DCA
สำหรับนักลงทุนมือใหม่ หรือผู้ที่ยังอยู่ตลาดได้ไม่นาน การจับจังหวะเข้าซื้อ หรือขาย อาจจะทำได้ค่อนข้างยาก เสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ซื้อแพงมาขายถูก หรือที่เรียกกันในหมู่นักลงทุนว่าขายหมูได้ ทางออกที่จะช่วยกระจายความเสี่ยงการลงทุนให้กับนักลงทุนกลุ่มนี้ ก็คือ การลงทุนแบบถัวเฉลี่ย หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า DCA เป็นการเฉลี่ยต้นทุนการซื้อขาย โดยการลงทุนอย่างสม่ำเสมอในระยะเวลาที่กำหนด ด้วยยอดที่เท่ากันทุกเดือน
4. รักษาวินัยการลงทุน เดินตามแผน รักษาเป้าหมาย
การลงทุนเป็นเงินก้อนโต แม้จะเป็นเรื่องดีที่จะทำให้สามารถซื้อสินทรัพย์ได้เป็นจำนวนมาก แต่ก็อาจจะมีความเสี่ยงหากตัดสินใจเลือกลงทุนในประเภทของสินทรัพย์ที่ผิด หรือเลือกหุ้น กองทุนที่ไม่มีพื้นฐานที่ดีพอ อาจจะทำให้เกิดภาวะขาดทุนได้ การศึกษาข้อมูลให้ดี มีวินัยลงทุนแม้จำนวนไม่มาก แต่สม่ำเสมอ ตรวจเช็คข้อมูล เดินตามแผน และกลยุทธ์การลงทุนอย่างต่อเนื่อง รักษาเป้าหมายให้ได้ตลอด ก็เป็นการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้
5. ปรับพอร์ตให้สมดุล ตามระยะเวลาที่สมควร
การลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ มีวงรอบขึ้นลงเป็นวัฏจักร ดังนั้น เมื่อลงทุนผ่านระยะเวลาไปช่วงหนึ่ง สินทรัพย์ที่ทำผลตอบแทนได้สูง จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ซึ่งนักลงทุนควรทำการปรับพอร์ตการลงทุนให้เกิดความสมดุล เพื่อไม่ให้สินทรัพย์บางอย่างซึ่งมีความเสี่ยงสูง อยู่ในพอร์ตในสัดส่วนที่มากจนเกินไป ซึ่งอาจจะทำให้เกิดภาวะขาดทุนที่สูงขึ้นได้ หากเกิดวิกฤติขึ้นในอนาคตข้างหน้า
เพราะในโลกการลงทุน ไม่มีอะไรแน่นอน มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นการปิดโอกาสการขาดทุนจากการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดมากเกินไปได้ นักลงทุนที่ดี จึงต้องเรียนรู้การกระจายความเสี่ยง และนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมสอดคล้องต่อเป้าหมายของตนเอง สร้างพอร์ตการลงทุนที่มีคุณภาพ เป็นแหล่งทำเงิน พิชิตเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ให้สำเร็จ
อ่านเพิ่มเติม: รวม 5 เทคนิคเล่าเรื่องแบรนด์อย่างไร ให้โดนใจกลุ่มเป้าหมาย