
แบรนด์องค์กรที่มีความแข็งแกร่ง ซึ่งคนส่วนใหญ่จดจำได้ และมีประสบการณ์ร่วมในด้านต่างๆ ถือเป็นหนึ่งสิ่งที่จะช่วยสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและบริการ ในยุคที่มีการแข่งขันด้านการตลาดกันรุนแรงได้เป็นอย่างดี แต่หลายๆ บริษัทที่ทุ่มเทงบประมาณไปเป็นจำนวนมากเพื่อสร้างการรับรู้ด้านแบรนด์ รวมไปถึงสื่อสารให้เกิดการจดจำ และยังคงเป็นแบรนด์ชั้นนำที่ได้รับความนิยม แต่กลับไม่สามารถไปถึงฝั่งฝันได้อย่างที่คิด ซึ่งย่อมมีความผิดผลาดบางอย่างเกิดขึ้น
อยากรู้ว่ามีอะไรที่แบรนด์องค์กรต้องระมัดระวัง มาติดตามกันได้เลย
1. Brand Identity ไม่ชัดเจน สื่อสารไม่เหมือนกัน
การสื่อสารอัตลักษณ์ของแบรนด์ ต้องมีการออกแบบ และจัดทำออกมาเป็น Brand Guideline ที่ระบุรูปแบบและการนำไปใช้ไว้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น Logo, Corporate Color, Tagline หรือแม้แต่ Template ในการนำเสนอต่าง ๆ ซึ่งหากไม่ได้มีการจัดทำ หรือทราบแค่เพียงบางคน ก็อาจจะทำให้คนอื่น ๆ ที่ไม่ทราบนำสิ่งที่เกี่ยวข้องกับองค์กรไปสื่อสารในทางที่ผิดเพี้ยนไปจากที่วางไว้ได้
2. ไม่ได้แจ้งพนักงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจเหมือนกัน
ในบางครั้งหลาย ๆ องค์กรมักจะเข้าใจผิดว่า การสื่อสารแบรนด์เป็นหน้าที่ของแผนกสื่อสารองค์กรหรือประชาสัมพันธ์เท่านั้น ซึ่งในความจริงแล้ว ถือเป็นหน้าที่ของพนักงานในองค์กรทุกคนที่ต้องรับทราบข้อมูลที่เหมือนกัน มีความรู้ความเข้าใจ และสื่อสารไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อต้องนำข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดนำไปใช้ ก็สามารถหยิบไปใช้ได้ตรงประเด็น เหมาะสม มีรูปแบบที่สวยงาม และเป็นเอกลักษณ์
3. ขาดการอัพเดทเครื่องมือทางการตลาดที่ตอบโจทย์ต่อการสื่อสาร
แน่นอนว่าเมื่อเวลาผ่านไป องค์กรก็มีการปรับเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ ให้มีความทันสมัย ปรับวิสัยทัศน์ พันธกิจ รวมไปถึงรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องเหล่านี้จึงต้องมีการนำมาอัพเดทผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ ที่ควรมีการเคลื่อนไหว และตอบโจทย์ต่อพฤติกรรมการเป็นรับข่าวสารของกลุ่มเป้าหมายอยู่เสมอ
4. Tagline จดจำยาก และไม่สื่อสารถึงองค์กร
การมีสโลแกนสั้นๆ หรือที่เรียกกันว่า Tagline ที่สื่อความหมายถึงองค์กรในมุมที่ครอบคลุมถึงธุรกิจ การให้บริการ ที่เข้าถึงอารมณ์ และจดจำได้ง่าย เป็นสิ่งที่องค์กรที่ต้องการแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งควรมีการดำเนินการจัดทำ และสื่อสารให้พนักงานทุกคนได้รับทราบ ซึ่งการจะได้มาของ Tagline นั้น ควรมีการคิดอย่างรอบคอบ เพื่อให้สโลแกนที่ตั้งขึ้นนั้นสะท้อนความเป็นองค์กรได้มากที่สุด ใครได้ยินก็นึกถึง
5. สื่อสารทุกเรื่อง จนลูกค้าไม่สามารถจดจำได้
ในแต่ละวันมีข้อมูลที่เกี่ยวกับแบรนด์เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งการนำมาสื่อสารทั้งหมด อาจจะไม่ใช่เรื่องจำเป็นและดีสำหรับองค์กรเท่าไหร่ เพราะข้อมูลที่อัดแน่นหลากหลายจนเกินไป ไม่ได้ทำให้เกิดการจดจำ หนำซ้ำยังทำให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความเบื่อหน่าย และปิดกันช่องทางสื่อสารที่เชื่อมต่อกับแบรนด์ไปได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง หันมาสื่อสารในประเด็นที่โฟกัส ให้ลูกค้าจนจำ และมีผลต่อธุรกิจจะดีกว่า
สิ่งที่จะช่วยลดความผิดพลาดในการสร้างและสื่อสารแบรนด์สู่สาธารณชนก็คือการมีคู่มือแบรนดิ้งขององค์กร ที่เป็นแบบฉบับในการสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ และควรมีการส่งมอบและกระจายข้อมูลให้แต่ละหน่วยงานรับทราบ และตรวจสอบการนำไปใช้ให้ถูกต้อง รวมไปถึงการอัพเดทให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อให้องค์กรยังคงดูอินเทรนด์ ไม่ล้าหลัง ความร่วมมือของทุกคนในองค์กร จึงเป็นสิ่งที่จะทำให้แบรนด์น่าจดจำ และสร้างประสบการณ์ที่ดีต่อกลุ่มเป้าหมายตลอดไป
อ่านเพิ่มเติม: แนะ 5 เกณฑ์ต้องรู้ซื้อประกันสุขภาพลูกน้อย สำหรับพ่อแม่