รวม 5 เทคนิคเล่าเรื่องแบรนด์อย่างไร ให้โดนใจกลุ่มเป้าหมาย

by kanlongthun
เล่าเรื่องแบรนด์

ในยุคที่ต้องแย่งชิงทั้งพื้นที่ เวลา และความสนใจจากผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจึงต้องไม่ได้มีดีแค่เนื้อหา แต่ต้องมาพร้อมกับชั้นเชิงการเล่าเรื่องแบรนด์ หรือ Brand Story Telling ที่ดีด้วย การเล่าเรื่องที่มีเอกลักษณ์ และน่าสนใจจะช่วยผลักดันให้แบรนด์แตกต่างจากคู่แข่ง รวมทั้งยังช่วยเชื่อมโยงเรื่องราวที่เกิดขึ้นเข้ากับอารมณ์ ความรู้สึก และจิตใจของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งหากไม่ได้รับการฝึกฝนและพัฒนา ก็อาจจะเป็นไปได้ยากที่จะเล่าเรื่องได้โดนใจ แล้วจะต้องทำยังไงให้เล่าเรื่องแบรนด์ได้น่าสนใจ มาเรียนรู้ และ

ลองนำเทคนิคดี ๆ เหล่านี้นำไปประยุกต์ใช้เล่าเรื่องแบรนด์ของคุณกันได้เลย 

1. สร้างจุดขัดแย้งในเรื่อง

Brand Story Telling ที่ดี เส้นเรื่องต้องไม่ราบเรียบ จนสามารถคาดเดาได้ว่ามีจุดเริ่มต้นยังไง และจะไปสิ้นสุดในรูปแบบใด การสร้างตัวละครที่เป็นตัวเอก และตัวร้าย ซึ่งตัวร้ายก็ไม่ได้หมายถึงคนเสมอไป อาจจะเป็นความคิด หรือแม้แต่สิ่งของ โดยนำมาผูกโยงให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ มีทั้งจุดสตาร์ท จุดขัดแย้ง ที่จะเป็นจุดหักเหเพื่อทำให้ตัวเอกชนะตัวร้ายได้ในที่สุด โดยตัวเอกก็หมายถึงตัวแบรนด์ที่จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์อะไรบางอย่างที่กลุ่มเป้าหมายต้องการนั่นเอง 

2. เลี่ยงการสื่อสารข้อมูลที่ไม่จำเป็นต้องนำมาเล่า

หลายครั้งที่แบรนด์มีข้อมูลมากมายที่ต้องการจะเล่า และมักจะอยากเล่าทุกเรื่องที่คิดว่าจะทำให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจแบรนด์มากขึ้น แต่กลับลืมไปว่าผู้บริโภคมีเวลา และสมาธิสั้น ไม่สามารถจดจำอะไรที่เยอะเกินไปได้ การตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อการเดินเรื่องออกไปบ้าง ก็จะทำให้เรื่องเล่าของแบรนด์ดูเข้าใจง่าย มีเสน่ห์ และผู้ที่ได้ติดตามเกิดความประทับใจมากขึ้น 

3. เล่าให้ฟังง่ายสไตล์เหมือนคุยกับเพื่อน

สไตล์การเล่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ ที่จะทำให้เรื่องเล่านั้นน่าเบื่อ หรือน่าสนใจ บางครั้งการจริงจังกับการใส่ข้อมูล เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ ใช้ศัพท์ทางเทคนิคเพื่อให้ดูอินเตอร์ หรือพรีเมี่ยม แต่หารู้ไม่ว่า การเล่าในสิ่งที่ยากเกินกว่าพื้นฐานความเข้าใจของกลุ่มเป้าหมาย จะกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งทำให้ผู้บริโภคเลือกที่จะหนีมากกว่าอยากติดตาม การเล่าเรื่องให้เหมือนเพื่อนเล่าชีวิตให้ฟัง จะมีเสน่ห์และดึงดูดใจให้กลุ่มเป้าหมายติดตามจนจบเรื่อง

4. สร้างความน่าสนใจ ให้ภาพช่วยเล่า

การใช้ข้อความ หรือคำพูด เดินเรื่อง หากเป็นเนื้อหาที่ค่อนข้างยาว ความน่าสนใจจะเริ่มลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ แต่หากมีภาพประกอบที่ช่วยดึงดูดสายตา ทำให้กลุ่มเป้าหมายมีสมาธิจดจ่อ เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับเนื้อหา จะทำให้เข้าใจสิ่งที่เล่านั้นได้ง่ายยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเล่าเรื่องผ่านช่องทางใด การเลือกภาพประกอบที่สอดคล้องกับเนื้อหา และอารมณ์ของเรื่อง ณ เวลานั้น จะช่วยให้เรื่องราวชวนติดตามมากขึ้น 

5. สร้างเรื่องราวให้ใกล้ตัว เชื่อมโยงกับความคุ้นเคยของกลุ่มเป้าหมาย 

เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มักจะเชื่อมโยงประสบการณ์กับเรื่องที่คุ้นเคย และใกล้ตัวได้ดีกว่าเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับตัวเอง การสร้างเรื่องเล่าของแบรนด์ให้น่าสนใจ เข้าถึงใจกลุ่มเป้าหมาย จึงต้องเลือกเล่าในมุมที่ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย เคยรู้สึก มีประสบการณ์ หรือมีปัญหาแบบเดียวกัน จนต้องนำไปสู่การหาวิธีแก้ไข ที่จะทำให้ชีวิตมีความสุข ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ต้องการได้ 

แม้ว่าการสร้างเรื่องเล่าให้เป๊ะปังโดนใจ ที่ดูเผิน ๆ อาจจะเป็นเรื่องที่ง่าย แต่เมื่อลงมือปฏิบัติจริงกลับไม่ใช่อย่างที่คิด ทักษะ Brand Story Telling จึงเป็นอีกหนึ่งทักษะที่นักการตลาดยุคใหม่ต้องเรียนรู้ และพัฒนา เพื่อนำมาใช้ในการสร้างแบรนด์ให้มีเอกลักษณ์ แตกต่าง และน่าสนใจ ซึ่งหากมีความช่ำชองเชี่ยวชาญ ก็สามารถประยุกต์นำไปใช้กับการสื่อสารด้านอื่น ๆ ได้อย่างกว้างขวาง คุ้มค่าต่อการพัฒนาตัวเองอย่างแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม: รวม 5 ปัญหายอดฮิตของคนทำธุรกิจการขายสินค้าออนไลน์ จัดการอย่างไรให้ธุรกิจรุ่งเรือง

เรื่องที่คล้ายกัน

Leave a Comment