
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในการสร้างความสำเร็จ และการเติบโตแก่องค์กร พนักงานถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญที่จะทำให้ภารกิจและเป้าหมายต่าง ๆ ของบริษัท หน่วยงาน บรรลุเป้าประสงค์ และเติบโตไปสู่ระดับที่สูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อใดที่พนักงานมีการหมุนเวียนสับเปลี่ยน เข้าออกอยู่เรื่อย ๆ ย่อมเป็นเหตุในเกิดช่องว่างในการสานต่องาน จนกระทบไปถึงการพัฒนาขององค์กรที่ทำให้เกิดการสะดุดลง การลาออกของพนักงานจึงไม่ใช่ปัญหาเล็ก ๆ ที่สามารถมองข้าม หรือละเลย ไม่สนใจที่จะเยียวยา หรือหาทางแก้ไข เพราะหากปล่อยไว้ นี่อาจจะเป็นแผลใหญ่ ที่สะเทือนทำให้องค์กรสั่นคลอน จนยากต่อการรับมือ และสมานให้กลับมาดีอย่างเดิม
ซึ่งจะมียุทธวิธีใดที่จะรักษาพนักงานชั้นดี ไม่ให้ลาออกจากองค์กรบ้าง มาค้นหาคำตอบไปด้วยกันได้เลย
1. ปรับฐานเงินเดือนให้เหมาะสมกับภาระงาน และผลการปฏิบัติงาน
เรื่องเงิน ถือเป็นปัจจัยอันดับต้น ๆ ที่ทำให้พนักงานเปลี่ยนใจ ลาออกไปหาองค์กรอื่น ที่ให้ข้อเสนอเงินเดือนและสวัสดิการที่ดีกว่า โดยหากพบว่ามีพนักงานลาออกบ่อย ๆ ควรมีการสอบถามข้อมูลเพื่อให้ได้เหตุผลที่แท้จริง หากเป็นเหตุที่เกี่ยวข้องกับค่าตอบแทน องค์กรควรหันกลับมาพิจารณาว่า ได้มีการปรับให้สอดคล้องต่อภาระงาน รวมไปถึงผลประเมินการปฏิบัติงานของพนักงานแต่ละคนมากน้อยเพียงใด เพื่อตอบแทนความตั้งใจในการปฏิบัติงานของพนักงาน และรักษาเขาไว้ให้อยู่กับองค์กรให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
2. สร้างโอกาสการพัฒนา ให้เติบโตในหน้าที่การงาน
เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่พนักงานทุกคนจะปรารถนาโอกาสและความก้าวหน้าเติบโตในตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงขึ้น โดยเฉพาะหากทำงานมาระยะหนึ่งแล้ว มีอายุงาน และวัยวุฒิที่พร้อมก้าวไปสู่ตำแหน่งในระดับบริหาร หรือหัวหน้างาน ซึ่งองค์กรที่จะรักษาคนไว้ได้ ควรมีการทะยอยปรับตำแหน่งให้แก่พนักงานที่มีความพร้อมและสามารถก้าวขึ้นมาดูแลงานในตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบสูงขึ้นได้ เพื่อเป็นแบบอย่างแก่บุคคลอื่น ที่ปฏิบัติงานภายในองค์กร
3. เสริมสร้างความสัมพันธ์ของพนักงานในองค์กรให้อยู่อย่างมีความสุข
ปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ขัดผลประโยชน์ซึ่งกันและกันในองค์กร ถือเป็นปัญหาที่บ่อนทำลายบรรยากาศการทำงาน ทำให้พนักงานที่เอือมระอากับเรื่องเหล่านี้ ไม่ทน พร้อมตัดสินใจลาออก เพื่อไปหาสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ที่ดีกว่า การรักษาพนักงานชั้นดีไว้ จึงจำเป็นต้องใส่ใจตรวจเช็คความเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรอย่างสม่ำเสมอ หากพบปัญหาควรรีบเร่งหาทางแก้ไข ก่อนที่จะเกิดไฟลุกลาม และยากจะดับ
4. ส่งเสริมความภาคภูมิใจ ทำให้พนักงานเชื่อมั่นในทักษะและความสามารถของตัวเอง
การอยู่อย่างไร้ตัวตน ทำงานไปวัน ๆ โดยปราศจากเป้าหมาย กลายเป็นหนึ่งในปมปัญหา ที่พนักงานจะตัดสินใจลาออก เพื่อไปหาโอกาสในองค์กรใหม่ ๆ ที่มองเห็นศักยภาพความรู้ความสามารถของตนเอง การส่งเสริมและสร้างความภาคภูมิใจ ทำให้เขามีที่ยืน ได้รับการยอมรับจากคนภายในองค์กร จึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มีความสำคัญ ที่จะเหนี่ยวรั้งพนักงานดี ๆ ให้อยู่กับองค์กรไปนาน ๆ
5. ทำให้ชีวิตพนักงาน มี Work Life Balance ลดความเครียดกดดันให้อยู่ในระดับสมดุล
การต้องทำงานหนักหามรุ่ง หามค่ำ โดยไม่มีเวลาพักผ่อน และเวลาในการทำกิจกรรมส่วนตัวในสิ่งที่ตัวเองสนใจ ในระยะยาวคงไม่เป็นสิ่งที่ดีต่องค์กรอย่างแน่นอน เพราะพนักงานจะเกิดความเหนื่อยล้า หมดแรง และส่งผลทำให้สุขภาพเสื่อมโทรม ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง จนกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ต้องโบกมือลาองค์กรไป การทำให้พนักงานมีชีวิตที่สมดุล ทั้งเวลางาน เวลาพักผ่อน และความเครียดที่ลดลง จึงเป็นสิ่งที่องค์กรต้องหาวิธีในการบริหารจัดการ
การพัฒนาองค์กร บริษัท ให้มีคุณภาพ มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการปฏิบัติงาน มีเงินเดือนและสวัสดิการที่น่าพึงพอใจ เป็นสิ่งดีๆ ที่จะยึดเหนี่ยวให้พนักงานชั้นดี จงรักภักดี และอยู่ร่วมส่งเสริมพัฒนาสร้างการเติบโตให้กับองค์กร โดยใช้ความรู้ความสามารถของแต่ละคน สนับสนุนขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ และลดปัญหาการลาออก ที่สร้างผลกระทบและความเสียหายแก่องค์กรลงได้
อ่านเพิ่มเติม: ภาษีสำหรับธุรกิจ