เจาะลึก  4 ประเภทพนักงาน จัดการอย่างไร ให้องค์กรเติบโต

by kanlongthun
ประเภทพนักงาน

ในภาคธุรกิจ “พนักงาน” นับเป็นหนึ่งในทรัพยากรที่สำคัญต่อการขับเคลื่อน สร้างสรรค์ พัฒนาให้ธุรกิจเติบโต การคัดสรร และส่งเสริมศักยภาพบุคลากรที่อยู่ในองค์กรให้พร้อมรับต่อความเปลี่ยนแปลง จึงเป็นสิ่งที่บริษัท หรือองค์กรธุรกิจต้องมีการวางแผน และดำเนินการฝึกฝน สร้างความชำนาญ เพื่อให้กลายเป็นหนึ่งในจุดแข็งที่จะสร้างรากฐานที่มั่นคง รองรับโอกาสทางธุรกิจที่จะมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยพนักงานแต่ละประเภทควรได้รับการดูแล เอาใจใส่ที่แตกต่างกัน ซึ่งแต่ละประเภทพนักงานควรได้รับการสนับสนุน สร้างขวัญและกำลังใจ รวมไปถึงจูงใจให้พนักงานเหล่านี้พัฒนาตนเองเพื่อก้าวไปสู่ในระดับที่สูงขึ้นอย่างไร

มาศึกษาประเภทพนักงานและทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กัน 

1. พนักงานที่มีทักษะความสามารถสูง ผลการประเมินสูง

พนักงานกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มดวงดาวที่เจิดจรัสในองค์กร เป็นกลุ่มคนคุณภาพที่ต้องดูแลเอาใจใส่ ไม่ให้พวกเขาเหล่านี้เปลี่ยนใจไปอยู่ที่อื่น เพราะบุคลากรกลุ่มนี้มีทักษะความสามารถเป็นที่ต้องการขององค์กรต่าง ๆ แม้ว่าพนักงานกลุ่มนี้จะมีอยู่เป็นจำนวนน้อย เพียงแค่ประมาณ 10% ขององค์กรก็ตาม โดยผู้บริหารและฝ่ายทรัพยากรบุคคล ควรโฟกัสในการสนับสนุนส่งเสริมให้ได้รับสวัสดิการ ค่าตอบแทน และโอกาสความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานให้กับคนกลุ่มนี้เป็นพิเศษ เพื่อรักษาพวกเขาไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้  

2. พนักงานที่มีศักยภาพสูง ผลการปฏิบัติงานต่ำ

บุคลากรในกลุ่มนี้เรียกว่าเป็นกลุ่ม Problem Child ซึ่งมักจะเป็นเด็กรุ่นใหม่ ไฟแรงที่มักจะมีแนวคิด และวิธีการทำงานที่เป็นของตัวเอง การทำงานในกรอบเดิม ๆ ภายใต้คำสั่งของหัวหน้างานที่ไม่ได้เข้าใจพฤติกรรม ความชอบ ความสนใจของคนกลุ่มนี้ ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นในองค์กรธุรกิจได้ ทางที่ดีควรมีการป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ ด้วยการพูดคุย รับฟังความคิดเห็น และปรับเปลี่ยนลักษณะงานให้สอดคล้องต่อศักยภาพที่พวกเขาสามารถพัฒนา สนับสนุนองค์กรได้ดี รวมทั้งได้อยู่กับหัวหน้างานที่เข้าใจ

3. พนักงานที่มีผลการปฏิบัติงานดีมาก ผลการประเมินต่ำ

สำหรับผู้ที่รักและภักดีกับองค์กรอย่างที่สุดต้องยกให้กับกลุ่มนี้ เพราะเป็นกลุ่มที่อยู่กับองค์กรมายาวนาน ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น จึงรู้จักเข้าใจเส้นทางการเติบโตของธุรกิจมาเป็นอย่างดี และไม่คิดที่จะลาออกไปอยู่ที่อื่น แต่คนกลุ่มนี้มักจะมีอุปสรรคที่ไม่สามารถขึ้นตำแหน่งที่สูงไปกว่าเดิมได้ ด้วยคุณวุฒิ ไม่ว่าจะเป็นระดับการศึกษา หรือทักษะความรู้ความสามารถ การจัดการกับบุคลากรกลุ่มนี้ คือการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพในด้านที่เหมาะสมต่อการทำงาน เพื่อรักษาไว้เป็นกองหนุนในการพัฒนาองค์กรต่อไป 

4. พนักงานที่มีผลการปฏิบัติงานและผลการประเมินต่ำ 

กลุ่มที่มักจะสร้างปัญหารุนแรงให้กับองค์กรคงหนีไม่พ้นกลุ่มนี้ ด้วยแนวคิด ทัศนคติที่อาจจะไม่ค่อยดีต่อองค์กรมาตั้งแต่ต้น รวมไปถึงทักษะความสามารถที่ยังไม่สามารถพัฒนาให้ก้าวไปสู่ระดับที่สูงขึ้นได้ ทำให้บุคคลกลุ่มนี้จะเป็นอันตรายต่อองค์กร พร้อมที่จะปลุกระดมสร้างปัญหาให้กับธุรกิจได้เสมอเมื่อมีโอกาส ทางที่ดีควรมีการพูดจาปรับทัศนคติ หากทำผิดก็ควรมีบทลงโทษ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นแบบอย่างแก่พนักงานคนอื่น หากทำผิดร้ายแรง ก็จำเป็นต้องถึงขั้นดำเนินการเลิกจ้าง 

ในแต่ละองค์กรธุรกิจล้วนมีคนหลากหลายประเภทปะปนกัน การสังเกตุพฤติกรรม แบ่งกลุ่มพนักงานแต่ละคนอย่างชัดเจน เพื่อให้สามารถดูแลได้อย่างเหมาะสม ทั้งผู้ที่มีศักยภาพที่พร้อมจะผลักดันให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาองค์กรได้ และบุคคลที่ขาดทักษะ ความสามารถ และมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อองค์กร ซึ่งต้องรีบดำเนินการป้องปราม และจัดการขั้นเด็ดขาดหากสร้างปัญหารุนแรงต่อองค์กร สำหรับแนวทางที่นำมาแนะนำกันนี้ คงทำให้ผู้บริหาร และฝ่ายทรัพยากรบุคคล สามารถดูแลพนักงานแต่ละประเภทได้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างความมั่นคง และส่งเสริมการเติบโตขององค์กรอย่างยั่งยืน 

อ่านเพิ่มเติม: 5 แนวทาง สร้างธุรกิจส่วนตัว ด้วยสองมือและหัวใจ  ทำอย่างไรให้สำเร็จ 

เรื่องที่คล้ายกัน

Leave a Comment