5 วิธีจัดการ ต้นทุนแฝงขายของออนไลน์ ทำยังไงให้คุ้มทุน

by kanlongthun
ต้นทุนแฝง

สำหรับการขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ แม้ว่าจะสามารถประหยัดต้นทุน ไม่ต้องเช่าพื้นที่เปิดหน้าร้าน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้กำไร โดยไม่มีต้นทุนแฝง อื่นๆ เพราะจริงๆ แล้วในทุก ๆ การทำธุรกิจ จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรที่หลากหลาย กว่าจะส่งมอบสินค้า หรือบริการ และได้รับเงินจากลูกค้ามาได้ ต้องอาศัยทั้งเงิน เวลา ความรู้ ซึ่งบางอย่างอาจจะไม่สามารถวัดผลออกมาเป็นตัวเงินได้โดยตรง แต่ก็หากนำมาคำนวณหักลบกันอย่างจริงจังก็จะเห็นว่าที่เราทำไปบางอย่างอาจจะไม่คุ้มทุน

มาเรียนรู้กันดีกว่าว่า การขายของออนไลน์มีต้นทุนแฝงอะไร ซึ่งต้องตั้งราคาให้คุ้มกันบ้าง 

1. ค่าอุปกรณ์แพ็คสินค้าก่อนส่ง

ในการส่งสินค้าแต่ละชิ้น จะมีอุปกรณ์แพ็คกิ้งที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกล่อง ถุง อุปกรณ์กันกระแทก เพื่อป้องกันการชำรุดเสียหายระหว่างการขนส่ง รวมไปถึงอุปกรณ์ยึดติดไม่ว่าจะเป็นเทปกาว สก็อตเทป สติกเกอร์ชื่อที่อยู่ผู้ส่ง และผู้รับ เชือกมัดกล่อง ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ ล้วนเป็นต้นทุนที่แฝงอยู่ โดยบางครั้งพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ อาจจะลืมคิดรวมไปในราคาค่าขนส่ง เพราะคิดว่าอาจจะทำให้ราคาสูงขึ้น แต่กลับต้องแบกรับภาระนี้ไว้ซะเอง 

2. ค่าโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต 

แน่นอนว่าการขายสินค้าออนไลน์ได้ ต้องมีการใช้บริการโทรศัพท์มือถือ และค่าอินเตอร์เน็ตรายเดือน สำหรับการเชื่อมต่อเข้ากับแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ แอฟ หรือโซเชียลมีเดีย เพื่อให้เกิดความเสถียรในการโพส ไลฟ์ขายสินค้า การตอบแชท จึงจำเป็นต้องใช้อินเตอร์เน็ตที่มีความเร็ว และแรง ทำให้ย่อมมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นกว่าปกติ 

3. ค่าเดินทาง ขนส่ง

สำหรับการรับสินค้ามาขาย หรือการนำไปส่ง ไม่ว่าจะผ่านบริษัทขนส่ง หรือนำไปส่งด้วยตัวเอง ย่อมมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเกิดขึ้น ทั้งค่าน้ำมัน ค่าเสื่อมของรถ ซึ่งต้องมีการคำนวณอย่างรอบคอบ ในการตั้งราคาสินค้า เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่จะตามมา โดยควรมีการตั้งราคามาตรฐาน หรือหาสูตรคำนวณที่สะท้อนให้เห็นต้นทุนที่แท้จริง ก่อนแจ้งลูกค้า เพื่อจะได้ไม่เป็นการโกหกหรือหลอกลวง 

4. ค่าไฟ 

การทำงานอยู่กับบ้าน แน่นอนว่าจะต้องเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ซึ่งหากไม่ได้ขายของออนไลน์ก็อาจจะไม่ได้ใช้งานจำนวนมาก ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากการใช้งานปกติ จึงเป็นอีกต้นทุนแฝง ที่บางคนละเลย คิดว่าเป็นค่าใช้จ่ายปกติทั่วไป ที่ต้องจ่ายเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ต้องไม่ลืมว่าส่วนต่างที่เกิดขึ้นก็ต้องเตรียมเงินไว้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเดิมด้วย 

5. ค่าสต็อคสินค้า 

เพื่อให้บริการได้รวดเร็วทันใจ การสต็อคสินค้าไว้กับตัว จึงเป็นอีกหนึ่งค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนในการทำธุรกิจ โดยหากไม่มีพื้นที่จัดเก็บเพียงพอ ก็อาจจะต้องเช่าพื้นที่ในการสต็อค ทำให้ยิ่งเป็นการเพิ่มรายจ่ายประจำให้สูงยิ่งขึ้น หากสินค้ามีขนาดไม่ใหญ่มาก ก็คงมีต้นทุนไม่สูงมากนัก แต่หากสินค้ามีขนาดใหญ่ ใช้พื้นที่ในการจัดเก็บเยอะ ก็ต้องเตรียมเงินสำรองไว้ในส่วนนี้เพิ่มเติมด้วย 

การขายของออนไลน์ ดูเผิน ๆ อาจจะไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรมากนัก แต่จริง ๆ แล้วรายจ่ายที่กล่าวมาล้วนเป็นเม็ดเงินรายเดือนที่ต้องเสียไป การคำนวณ และบริหารรายรับ รายจ่ายในธุรกิจอย่างรอบคอบ จะเป็นการอุดช่องโหว่ที่จะทำให้เงินทองรั่วไหล จากกำไร ก็อาจจะกลายเป็นขาดทุนได้ วิธีแก้ที่ดีที่สุด คือ การประเมินทั้งรายรับ และรายจ่ายให้อยู่ในเกณฑ์ตามเป้าหมายที่วางไว้ และมีแผนสำรองหากไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

อ่านเพิ่มเติม: รวม 4 ภัยทางการเงิน ที่ควรสนใจเฝ้าระวัง ป้องกันความเสี่ยง

เรื่องที่คล้ายกัน

Leave a Comment