
ร่างกายคนเราเมื่อเวลาผ่านไปก็เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลาอายุ ดังนั้น เพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หมอจึงมักแนะนำให้ไปตรวจสุขภาพประจำ เพื่อเช็คความผิดปกติ จะได้หาทางป้องกันได้อย่างทันท่วงที หากมีปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้น สุขภาพทางการเงินก็สำคัญไม่แพ้กัน แม้ว่าจะไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่ก็อาจจะสร้างความลำบากไปตลอดชีวิตได้ หากไม่ได้ดูแลตรวจเช็คอย่างจริงจัง เพื่ออุดรอยรั่วในจุดต่าง ๆ ที่ทำให้เงินไหลออก มากกว่าไหลเข้า จนสถานการณ์อาจถึงขั้นโคม่าได้ การหมั่นตรวจสอบสุขภาพทางการเงินของตัวเองเป็นประจำ จึงเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งจะมีเกณฑ์อะไรที่จะมาใช้บ้าง
ติดตามได้กับ 5 เช็คลิสต์ตรวจสอบสุขภาพการเงินที่นำมาแนะนำกันนี้ ลองไปใช้เพื่อทำให้ลดความเสี่ยงที่จะทำให้ชีวิตคุณลำบาก
1. มีหนี้สินไม่เกิน 50 เปอร์เซนต์ของสินทรัพย์ทั้งหมดที่ถือครอง
การมีหนี้สิน เป็นอีกสิ่งที่มักจะติดตัวทุกคน โดยเฉพาะวัยทำงานเรื่อยไปจนถึงเกษียณ แต่การมีหนี้สินที่มากจนเกินไป ก็ถือเป็นปัจจัยที่สร้างความเสี่ยงที่สูงที่จะนำไปสู่การเสียสุขภาพทางการเงิน และหากปล่อยไว้โดยไม่ดูแล ก็อาจจะต้องรีบส่งเข้าห้องฉุกเฉิน เพื่อรีบเยียวยา ดังนั้น เราจึงควรหมั่นตรวจสอบมูลค่ายอดหนี้ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ สูงเกินกว่า 50 เปอร์เซนต์ของยอดสินทรัพย์ทั้งหมดที่ถือครองหรือไม่ ทางที่ดี เพื่อไม่ให้เสี่ยงที่จะไม่สามารถจ่ายคืนหนี้ได้ ไม่ควรสร้างหนี้เกินระดับนี้ และหาทางปลดหนี้ให้เร็วที่สุด
2. มีเงินเก็บสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 6 เดือนของค่าจ่ายประจำ
การไม่มีเงินเก็บเลย ถือว่าชีวิตการเงินเข้าขั้นวิกฤติก็ว่าได้ เพราะหากมีเหตุฉุกเฉินที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก ก็ไม่มีลู่ทางว่าจะนำเงินเหล่านั้นมาจากไหน เนื่องจากไม่ได้มีการสะสมเงินไว้ โดยผู้ที่ต้องการมีสุขภาพการเงินที่ดี ควรมีการทยอยเก็บเงินสำรองกรณีฉุกเฉินไว้อย่างน้อยควรมียอดไม่น้อยกว่า 5 เดือนของรายจ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายประจำ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า หากไม่สามารถทำงาน ตกงาน ต้องลาออกกะทันหัน จะยังมีเงินเพียงพอในการประคับประคองชีวิตให้อยู่รอดไปได้ โดยที่ไม่เดือดร้อนมากจนเกินไป
3. ผ่อนชำระหนี้รายเดือน ไม่เกิน 40 เปอร์เซนต์ของรายได้
หลังจากเงินเดือนออก สถานการณ์ที่ทุกคนมักจะพบเจอคือยอดเงินที่ได้จะถูกโอนไปยังเจ้าหนี้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนสินค้าต่าง ๆ รวมไปถึงค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต ซึ่งอาจจะเหลือเงินในบัญชีเพียงไม่กี่บาทเท่านั้น การตรวจสอบสุขภาพการเงินอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องใส่ใจไม่แพ้กัน ก็คือ การผ่อนชำระหนี้สินรายเดือนจากค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไม่ควรอยู่ในระดับที่สูงเกิน 40 เปอร์เซนต์ของรายได้ที่เข้ามาในแต่ละเดือน เพื่อให้ยังคงมีเงินพอใช้จ่าย และเหลือเก็บออมลงทุน
4. มีเงินเหลือเก็บออมไม่น้อยกว่า 10 เปอร์เซนต์ของรายได้
การสร้างสุขภาพการเงินที่ดี ไม่ใช่แค่เรื่องในการป้องกันเท่านั้น ที่ยังหมายรวมถึงการเสริมสร้างเพื่อความมั่นคงในอนาคตด้วย โดยเฉพาะในด้านการเก็บออมเงิน ควรมีการตัดเงินออมจากรายได้ในแต่ละเดือนอย่างน้อย 10 เปอร์เซนต์ เพื่อใช้เป็นเงินที่จะนำไปลงทุนให้เกิดผลตอบแทนที่คุ้มค่าผ่านสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ หรือการนำไปต่อยอดด้วยการทำธุรกิจ เพื่อสร้างช่องทางในการนำรายได้เข้ากระเป๋าอีกหนึ่งทาง
5. มีเงินทุนสำหรับใช้จ่ายยามเกษียณ
บั้นปลายชีวิต ทุกคนคาดหวังที่จะอยู่อย่างสุขสบาย แม้ว่าจะไม่ได้ทำงานแล้วก็ตาม แต่การจะไปถึงจุดนั้นได้ ต้องมีการวางแผนอย่างดีตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อให้มีเงินใช้จ่ายเพียงพอ จนกว่าจะเสียชีวิต โดยไม่ต้องพึ่งพา หรือสร้างความเดือนร้อนแก่ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นบุตรหลาน หรือพี่น้อง ญาติมิตร การมีสุขภาพการเงินที่ดี จึงหมายรวมถึงการมีทุนสำรองไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณ ที่สอดคล้องต่อไลฟ์สไตล์ที่ตัวเองต้องการ
ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพร่างกาย หรือสุขภาพการเงิน ก็ควรได้รับการตรวจเช็คเป็นประจำ เพื่อให้เข้าใจถึงสถานะความเปลี่ยนแปลง และจะได้หาแนวทางในการป้องกัน และส่งเสริมให้ร่างกาย และการเงินยังคงแข็งแกร่ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ ไม่ว่าจะในปัจจุบัน หรืออนาคต ที่อาจจะเกิดวิกฤติร้ายแรง ที่กระทบกระเทือนต่อสถานะทางการเงิน การมีภูมิคุ้มกันที่ดี ก็จะช่วยทำให้แต่ละคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข มั่นคง และปลอดภัย
อ่านเพิ่มเติม: ความก้าวหน้าในอาชีพ