
ในกระบวนการผลิต ต้องอาศัยวัตถุดิบสินค้า รวมไปถึงบริการที่เกี่ยวข้องมากมาย องค์กรธุรกิจ จึงต้องอาศัย ซัพพลายเออร์ ที่จะทำหน้าที่ในการผลิต จัดหา และสนับสนุนการบริการ เพื่อส่งมอบสินค้าและบริการที่ดีมีคุณภาพ ไปสู่ผู้บริโภคหรือลูกค้า การคัดเลือกสิ่งนี้จึงเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญไม่น้อย เพราะหากไม่ได้คุณภาพ ประสิทธิภาพต่ำกว่าเกณฑ์ หรือแม้แต่ไม่มีความั่นคง สม่ำเสมอ ก็ย่อมสร้างผลกระทบเชิงลบต่อองค์กร ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เทคนิคที่นำมาบอกเล่ากันนี้ จะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการกลั่นกรองตรวจสอบ และทำให้ธุรกิจผลิตของดีมีคุณภาพส่งมอบให้แก่ลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง
เทคนิค 5 ปัจจัย เลือก ซัพพลายเออร์ อย่างไร ให้ถูกใจ และคุ้มค่า ดังนี้
1. ความสามารถในการส่งมอบสินค้า หรือบริการได้ทันเวลา และครบถ้วน
ปัจจัยแรกที่ต้องคำนึงถึงในการเลือก ซัพพลายเออร์ ก็คือ ความสามารถในด้านการผลิต การให้บริการ ที่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างครบถ้วน ทันเวลา โดยเพื่อเพิ่มความมั่นใจ ควรตรวจสอบให้แน่ชัดผ่านการรีวิวของลูกค้าที่เคยใช้บริการ การอ่านคอมเม้นท์ที่อาจมีเผยแพร่แนะนำอยู่ในโลกออนไลน์ หากเคยมีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นกับลูกค้ารายอื่นๆ ควรมีการสอบถามจาก Supplier ให้แน่ชัด เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาตามมา
2. คุณภาพ และการบริการที่ดี
นอกจากความสามารถในการส่งมอบสินค้าและบริการได้ตรงเวลา และครบถ้วนแล้ว ธุรกิจควรคำนึงถึงคุณภาพของสินค้าที่สั่งซื้อ หรือบริการที่ต้องการว่า สอดคล้องตอบโจทย์ต่อความต้องการหรือไม่ หากมีมาตรฐานสากล เช่น ISO หรือ มอก. รับรองด้วย จะยิ่งเป็นการการันตีได้ถึงคุณภาพ หากมีการสั่งซื้อเป็นประจำ ควรสุ่มตรวจสอบคุณภาพสินค้าอย่างสม่ำเสมอ และหากพบปัญหา ควรมีการวางแผนจัดการล่วงหน้า เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจ
3. ต้นทุนในการผลิต ที่ทำให้ได้ราคาที่ถูก
ราคาสินค้า เป็นอีกปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในการนำมาพิจารณา เพราะมีผลผูกพันไปถึงต้นทุนการผลิตของธุรกิจตัวเอง ที่จะส่งผลกระทบไปถึงราคาขายที่ต้องปรับตัวสูงขึ้น การแข่งขันด้านราคากับคู่แข่งอาจจะทำได้ยากขึ้น ดังนั้น การหาแหล่งวัตถุดิบการผลิต รวมไปถึงบริการต่างๆ ที่มีราคาไม่สูงมากนัก และคุณภาพอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เป็นงานหนักที่ฝ่ายจัดซื้อ จัดจ้าง ต้องสืบหา นำมาเปรียบเทียบ เพื่อให้ได้ supplier ที่ตรงใจมากที่สุด
4. ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ขัดต่อจริยธรรม คุณธรรมในสังคม
ความรับผิดชอบขององค์กรต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ที่เริ่มต้นมาจากกระบวนการผลิต เป็นอีกเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบัน กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ให้ความใส่ใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้บริโภค หน่วยงานภาครัฐ หรือพันธมิตรทางธุรกิจ การดำเนินการด้านการผลิต และการบริการจึงต้องสอดคล้องต่อกฏหมาย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงก่อให้เกิดปัญหาต่อสังคมตามมา
5. มีสภาพคล่องทางการเงิน องค์กรมีความมั่นคง
เสถียรภาพทางการเงินของ supplier เป็นอีกปัจจัยที่ไม่นำมาพิจารณาไม่ได้ เพราะหาก supplier หมุนเงินสดไม่ทัน ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิตสินค้า และการส่งมอบบริการให้แก่ธุรกิจ ที่อาจจะทำให้คุณภาพไม่คงที่ หรือมีบางสิ่งบางอย่างเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังกระบวนการดำเนินธุรกิจในส่วนต่างๆ ทางที่ดี จึงควรตรวจสอบความมั่นคงทางการเงินของบริษัท Supplier ให้ดีก่อนที่จะสั่งซื้อสินค้าหรือบริการ
ห่วงโซ่อุปทาน ที่เชื่อมโยง Supplier และธุรกิจต่างๆ เข้าด้วยกัน เป็นผลผูกพันที่สร้างความมั่นคงในการผลิตสินค้า และการให้บริการ ซึ่งจะสร้างความพึงพอใจให้ผู้บริโภค หรือผู้ซื้อ การเลือก Supplier โดยใช้หลักเกณฑ์ที่นำมาแนะนำดังกล่าวนี้ จะช่วยให้ภาคธุรกิจมีต้นทุนการผลิตที่เหมาะสม สามารถแข่งขันในตลาดได้ พร้อมทั้งช่วยให้รากฐานธุรกิจมั่นคง พร้อมที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
อ่านเพิ่มเติม: 5 เทคนิค บริหารจัดการกระแสเงินสดอย่างไร ให้ธุรกิจไม่มีสะดุด