แนะ 5 วิธีบริหารความขัดแย้งในองค์กร ที่ผู้บริหาร และหัวหน้างานควรรู้ และใช้ให้เป็น

by kanlongthun
ความขัดแย้งในองค์กร

การอยู่รวมกันของคนหมู่มาก ซึ่งมีความชอบ ความคิด พฤติกรรมและนิสัยที่แตกต่างกันไป ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดความไม่เข้าใจ จนเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในองค์กรที่มีพนักงานหลากหลายวัย มีการแบ่งกลุ่ม แบ่งฝักแบ่งฝ่าย จนกลายเป็นปัญหาการเมืองภายใน ที่หากปล่อยไว้อาจจะสร้างปัญหา ทำให้องค์กรเกิดความสั่นคลอน พนักงานทำงานกันอย่างไม่มีความสุข มีการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น ใส่ร้ายป้ายสีกันและกัน ซึ่งต้องรีบหาวิธีในการบริหารจัดการแก้ไข ไม่ให้เป็นไฟลามทุ่ง ที่ส่งผลกระทบไปยังการทำธุรกิจ และประสิทธิภาพในการทำงาน โดยวิธีในการบริหารความขัดแย้งภายในองค์กร เป็นสิ่งที่ผู้บริหาร และหัวหน้างานควรเรียนรู้ เพื่อให้สามารถคลี่คลายปัญหาได้ตั้งแต่เพิ่งเริ่มต้น ซึ่งสามารถแก้ไขได้ง่ายกว่า

โดยจะมีวิธีในการดำเนินการแก้ไขความขัดแย้งในองค์กรอย่างไร มาค้นหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันได้เลย 

1. การสร้างความปรองดองสามัคคี 

การเกิดความขัดแย้งจะมีการแบ่งพรรคแบ่งพวกออกเป็นฝักเป็นฝ่าย ตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไป ซึ่งการทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มาเผชิญหน้ากัน ย่อมทำให้เกิดปัญหาบาดหมางซึ่งกันและกัน การบริหารความขัดแย้งด้วยการสร้างความปรองดองสามัคคี จึงเป็นหนึ่งในวิธีที่จะช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้ โดยการเจรจาไกล่เกลี่ยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่าย ยอมที่จะเสียสละ หรือลดความต้องการ ลดอคติที่มีในใจ เปิดใจคุยกัน ซึ่งจะทำให้ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบ วิธีนี้ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งเล็ก ๆ น้อย ๆ ในองค์กรได้อย่างสบาย 

2. การหลีกเลี่ยงที่จะทะเราะเบาะแว้ง 

สำหรับรูปแบบนี้ ถือเป็นวิธีที่ไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรมากนัก การหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับคู่ขัดแย้ง เป็นวิธีที่ง่าย  แต่ผลลัพธ์นั้น อาจจะไม่มีประสิทธิภาพมากนัก เพราะปัญหาที่สร้างความบาดหมางจะยังไม่ได้รับการแก้ไข เพียงแค่ช่วยลดความรุนแรง และโอกาสที่จะทำให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นเท่านั้น ซึ่งหากในระหว่างนี้สามารถเจรจายุติความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันได้ ปัญหาก็จะสามารถคลี่คลายได้ แต่หากปล่อยทิ้งไว้ โอกาสที่จะขยายกลายเป็นเรื่องที่ใหญ่ เกินจะแก้ไขได้ ก็มีเป็นไปได้ 

3. การแข่งขัน 

วิธีนี้ถือเป็นวิธีการบริหารความขัดแย้งแบบดุดันเด็ดขาด โดยการเปิดโอกาส หรือจัดสรรพื้นที่ให้คู่ขัดแย้ง ได้มีโอกาสแสดงความสามารถ เพื่อแข่งขันหรือประชันกันเพื่อหาผู้ชนะ ซึ่งหากทั้งคู่มีน้ำใจเป็นนักกีฬารู้แพ้รู้ชนะ รู้อภัย ปัญหาความขัดแย้งที่เคยเผชิญก็อาจจะคลี่คลายได้ เพราะได้มีโอกาสพิสูจน์ความสามารถต่อสายตาผู้อื่น แต่หากทั้งสองฝ่าย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับกติกา มีการเล่นนอกกฏ ก็อาจจะยิ่งเป็นการเสริมเชื้อไฟให้ปะทุรุนแรงมากยิ่งขึ้นได้ 

4. การประนีประนอม

วิธีนี้ถือเป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่งในการหยุดยั้งความขัดแย้งภายในองค์กร แต่จำเป็นต้องอาศัยทักษะการเจรจากไกล่เกลี่ยของผู้บริหาร หรือหัวหน้างาน ที่มีความเข้าใจในความต้องการของทั้ง 2 ฝ่าย รวมทั้งสามารถยื่นข้อเสนอ ที่จะสร้างประโยชน์และความพึงพอใจให้แก่ทั้งคู่ โดยที่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายยอมแพ้ การประนีประนอม จึงต้องใช้ความพยายามอย่างสูง ค่อย ๆ ใจเย็น คลี่คลายปมปัญหาไปทีละจุด จนในที่สุดก็สามารถทำให้บรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ 

5. การให้ความร่วมมือ 

การเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้พูดจาเปิดใจ สื่อสารปัญหาที่ค้างคาใจ และความต้องการของกันและกัน เพื่อหาจุดร่วมที่ลงตัวในการยุติความขัดแย้ง เป็นอีกหนึ่งทางออกที่จะบรรเทาความบาดหมางในองค์กรได้ แต่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน และต้องใช้ความพยายามสูง ในการไกล่เกลี่ย เพื่อสร้างความร่วมมือของคู่ขัดแย้ง คลี่คลายปมปัญหา แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง 

การบริหารความขัดแย้งในองค์กร เพื่อให้สามารถบรรลุความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือ ไม่ใช่เพียงแค่ผู้บริหาร หัวหน้างานเท่านั้น ยังต้องมีฝ่ายบุคคล รวมไปถึงเพื่อนร่วมงานที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการเจรจา ไกล่เกลี่ย และสร้างข้อเสนอที่ยุติธรรม ทำให้คู่ขัดแย้งเกิดความพึงพอใจ และไม่สร้างให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเดิมขึ้นมาอีก

อ่านเพิ่มเติม: ดูแลลูกน้อง

เรื่องที่คล้ายกัน

Leave a Comment