
การสร้างยอดขายให้แก่ธุรกิจ จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีความเข้าใจลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย และเลือกตลาดที่ตัวเองมีจุดแข็ง สามารถแข่งขันกับคู่แข่งทางการตลาดที่มีอยู่มากมายได้อย่างไม่เป็นสองรองใคร กลยุทธ์การทำ Marketing Segmentation หรือการโฟกัสกลุ่มเป้าหมายที่สอดคล้องกับธุรกิจจึงเป็นอีกแนวทางในการนำมาปรับใช้ เพื่อมองหาลูกค้าที่มีลักษณะเหมือนกัน และเป็นกลุ่มที่สินค้าและบริการขององค์กรพร้อมตอบโจทย์ปัญหา สร้างความสุข คลายความทุกข์แก่กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเราสามารถใช้วิธีใดในการจำแนกลูกค้าเหล่านี้ได้บ้าง
มาเรียนรู้ ทำความเข้าใจ Marketing Segmentation เพื่อนำไปปรับใช้ในการทำธุรกิจ เพื่อให้สามารถพิชิตใจลูกค้าที่แท้จริงได้อย่างตรงกลุ่มกัน
1. เจาะกลุ่มเป้าหมายโดยเน้นคุณค่าที่สินค้าตอบโจทย์ ( Benefit Segmentation)
ไม่ว่าจะสินค้าหรือบริการมักจะได้รับการออกแบบมาเพื่อให้มีคุณค่าและประโยชน์เพื่อตอบโจทย์ในการบรรเทา หรือจัดการปัญหา Pain Point แก่ลูกค้าได้ ดังนั้น การเลือกเจาะกลุ่มลูกค้าโดยมองไปที่จุดแข็ง คุณภาพ และประโยชน์การใช้งานที่สอดคล้องต่อความต้องการของผู้บริโภค จึงเป็นหนึ่งในวิธีที่ใช้ได้ผลดี ในการมุ่งไปที่ลูกค้าที่ต้องการสินค้า และพร้อมจะจ่ายเงินซื้อทันที หากรู้ว่าสินค้าหรือบริการนี้สามารถแก้ไขปัญหาที่ตนเองเผชิญอยู่ได้
2. โฟกัสกลุ่มที่ห่วงใยใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสังคม (Environment & Social Aware)
ลูกค้าหรือผู้บริโภคในปัจจุบันไม่เพียงแค่ห่วงถึงผลประโยชน์ในสิ่งที่ตัวเองได้รับเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงบริบทโดยรอบ โดยเฉพาะการเลือกผลิตภัณฑ์หรือบริการ ที่ไม่สร้างผลกระทบ หรืออันตรายแก่สิ่งแวดล้อม และสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นแก่สังคม หากทางองค์กรมีจุดเด่นและให้ความสำคัญต่อเรื่องเหล่านี้ การนำจุดแข็งนี้มาสื่อสาร และเจาะกลุ่มไปยังลูกค้าที่ให้ความสำคัญต่อการห่วงใยใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในสังคม ก็เป็นอีกช่องทางที่จะสร้างฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งได้
3. ดึงดูดลูกค้าผู้รักสุขภาพและรูปร่าง (Healthy & Diet Conscious)
ภาพลักษณ์เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเสริมความมั่นใจให้แก่คนทั่วไป โดยเฉพาะด้านการดูแลสุขภาพ และรูปร่างหน้าตา นี่จึงเป็นอีกหนึ่งกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพและยิ่งนับวันยิ่งมีการเติบโตจากกระแสสังคมที่หันมาดูแลตัวเองกันมากขึ้น การออกผลิตภัณฑ์และบริการที่เจาะกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้ จึงมีโอกาสที่จะสร้างผลกำไร และสามารถขยายกลุ่มสินค้าให้ครอบคลุมความต้องการได้มากยิ่งขึ้น เพื่อทำให้ธุรกิจขยายตัว มีความมั่นคงต่อไป
4. เจาะกลุ่มผู้ที่ต้องการฉีกหนีสินค้าเดิม ๆ มองหาทางเลือกใหม่ ๆ (Variety Seeker)
เพราะการทำสิ่งที่เหมือนเดิมที่มีอยู่มากมายในตลาด อาจจะไม่ตอบโจทย์ลูกค้าที่เสพติดของแปลกใหม่ แตกต่าง ไม่ซ้ำใคร นี่จึงเป็นช่องว่างทางการตลาดที่กำลังรอให้ผู้มองเห็นเข้ามาเติมเต็ม โดยเฉพาะการทำความเข้าใจที่ลึกซึ้งไปถึงสิ่งที่ลูกค้าที่ชอบมองหาทางเลือกใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการ สร้างความสะดวกสบาย แก้ปัญหาที่ผู้บริโภคมีได้ดีกว่าเดิม นี่จะเป็นช่องทางในการสร้างยอดขาย และทำกำไรได้อย่างไม่มีทางตัน
5. แบ่งกลุ่มลูกค้าตามพฤติกรรมการเสพสื่อผ่านช่องทางต่าง ๆ (Media Segmentation)
ด้วยเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยทำให้ปัจจุบันมีช่องทางในการสื่อสารที่หลากหลาย ทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ ซึ่งก็สามารถนำมาใช้ในการจำแนกกลุ่มผู้บริโภค เพื่อออกแบบการสื่อสาร และสร้างรูปแบบการขายสินค้า เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด ทำให้ผู้บริโภคที่พร้อมจะเป็นลูกค้าเข้าถึงข้อมูลของสินค้าและบริการต่าง ๆ ได้ง่าย สามารถซื้อสินค้าได้แบบไร้ข้อจำกัด และนำมาต่อยอดเพื่อสร้างฐานลูกค้า บริหารความสัมพันธ์ เพื่อสร้างความยั่งยืนแก่ธุรกิจได้ด้วย
เทคนิค Marketing Segmentation หรือการแบ่งกลุ่มลูกค้าตามหมวดหมู่ต่าง ๆ จะทำให้ผู้เป็นเจ้าของธุรกิจ หรือนักการตลาด สามารถทำงานได้ง่าย ทั้งในแง่ของการออกแบบสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ แก้ปัญหาที่กลุ่มเป้าหมายกำลังหาทางออก การออกแบบสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ และสื่อสารผ่านช่องทางที่ลูกค้าสนใจให้การติดตาม รวมไปถึงพัฒนาต่อยอดสินค้าใหม่ ๆ หลีกหนีจากน่านน้ำสีแดง สู่น่านน้ำสีฟ้าสดใสที่คู่แข่งไม่มาก สามารถสร้างฐานลูกค้าที่มั่นคง และเติบโตได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน
อ่านเพิ่มเติม: เครื่องมือ Marketing