สรุป 5 ปัจจัย ทำไมธุรกิจต้องมีช่องทางขายหลากหลาย ไม่อาศัยโซเชียลมีเดียอย่างเดียว

by kanlongthun
ช่องทางขาย

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ช่องทางขายของผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ผู้บริโภคเปลี่ยนมาช้อปสินค้าออนไลน์ รวมถึงยังเกิดพ่อค้าแม่ค้าหน้าใหม่ที่หันมาหารายได้เสริม และรายได้หลักจากโลกออนไลน์กันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการทำเงินผ่านช่องทางเหล่านี้ทั้งง่าย และต้นทุนต่ำ แต่ก็แฝงมาด้วยความเสี่ยง โดยเฉพาะในวันที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และแพลตฟอร์มก็ต้องปรับ ควบคุมการเผยแพร่เนื้อหา เพื่อไม่ให้ส่งผลทำให้ผู้ใช้บริการเบื่อ และย้ายไปช่องทางอื่นแทน นี่เป็นที่มาว่าธุรกิจไม่ควรพึ่งพาโซเชียลมีเดียเพียงทางเดียว โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่น่าสนใจชวนให้คิดตาม ซึ่งมีอะไรบ้าง

มาทำความเข้าใจช่องทางขายไปด้วยกันเลย

1.  การตลาดแบบนี้ อาจจะมีความเสี่ยงในระยะยาว 

แม้ว่าปัจจุบันการเปิดหน้าร้านบนช่องทางโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น Facebook  Instagram Line TikTok  จะทำได้ง่ายเพียงไม่กี่นาที ก็สามารถเริ่มต้นโปรโมทขายสินค้าของตัวเองได้แล้ว แต่ในอนาคตก็ไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่าหน้าตาของแพลตฟอร์มเหล่านี้ จะมีเงื่อนไขในการให้บริการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร อาจจะต้องใช้เงินลงทุนค่าโฆษณาเพิ่มขึ้น เพื่อให้เข้าถึงลูกค้า การปรับการแสดงผลเนื้อหาให้สอดคล้องต่อการเปิดรับของผู้บริโภค รวมไปถึงพฤติกรรมของลูกค้าที่ก็สามารถเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ จึงมีความเสี่ยงที่จะขายสินค้าได้ยากขึ้น 

2. โซเชียลมีเดียยิ่งโต คู่แข่งยิ่งเพิ่ม 

แน่นอนว่ายิ่งช่องทางเหล่านี้เข้าถึงได้ง่าย ก็จะมีพ่อค้าแม่ค้า และธุรกิจหน้าใหม่เกิดขึ้นได้แบบรายชั่วโมง การมีผู้ขายมากขึ้น ก็จะทำให้คู่แข่งในตลาดเดียวกันและใกล้เคียงที่ทดแทนกันได้มีมากขึ้น จากเดิมที่เคยขายดี เพราะมีผู้ขายน้อยราย ก็อาจจะทำให้ขายสินค้าได้ยากขึ้น ต้องเปลี่ยนมาแข่งขันกันด้วยราคา เนื่องจากสินค้าหาความแตกต่างได้ยาก ก็ยิ่งเสี่ยงที่จะต้องเปลี่ยนไปทำธุรกิจแบบอื่นเร็วขึ้น 

3. อาศัยจมูกคนอื่นหายใจ ยังไงก็ต้องมีจมูกตัวเองไว้ด้วย

ต้องไม่ลืมว่าช่องทางที่ขายสินค้าอยู่นั้น เปรียบเสมือนเราไปทำธุรกิจอยู่ในบ้านของคนอื่น เมื่อบ้านหลังนั้นเกิดมีปัญหา ปิดกั้นไม่ให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้า หรือเก็บค้าพื้นที่ในการขาย ค่าบริการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น รวมไปถึงเปลี่ยนเงื่อนไขในการขาย ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ค้าไม่ทางตรง ก็ทางอ้อม ซึ่งยากที่จะหลีกเลี่ยง หากไม่เตรียมความพร้อมแต่เนิ่น ๆ  การมีช่องทางที่ตัวเองสร้างขึ้นแบบควบคุมได้ จึงจะปลอดภัยกว่า 

4. ไม่กระจายความเสี่ยง อาจทำให้ธุรกิจเจอทางตัน

เพราะความเสี่ยงแฝงอยู่ในทุกกระบวนการของการทำธุรกิจ ช่องทางการขาย ถือเป็นส่วนหนึ่งของการนำรายได้เข้าสู่กิจการ หากประตูของการทำเงินโดนปิดกั้น แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบให้ธุรกิจสั่นคลอน การกระจายความเสี่ยง ด้วยการพัฒนาช่องทางการขายที่หลากหลาย แม้ต้องเผชิญกับปัญหา ก็สามารถอาศัยช่องทางอื่น ๆ เป็นแหล่งสำรองที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ธุรกิจได้ 

5. ออฟไลน์มีไว้ ก็ไม่ได้เสียหาย เพราะเป็นอีกช่องทางสร้างประสบการณ์ลูกค้า 

แม้ว่าช่องทางออนไลน์จะได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ออฟไลน์ก็ยังสามารถตอบโจทย์ลูกค้าอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องการสัมผัสสินค้าและบริการจริง ๆ เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ และตรวจสอบว่าสินค้าชนิดหรือรูปแบบนั้น ๆ เหมาะกับตัวเองมากน้อยเพียงใด และยังเป็นช่องทางที่สามารถควบคุมบริหารจัดการด้วยตัวเองได้ โดยไม่มีข้อจำกัด

การขายสินค้าและบริการผ่านโซเชียลมีเดีย แม้จะมีข้อดีอยู่มาก แต่ก็แฝงไว้ด้วยความเสี่ยง ที่หากไม่หาทางป้องกัน และบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ ก็อาจจะทำให้ธุรกิจสะดุด หรือขาดสภาพคล่องในการก้าวต่อไปข้างหน้าได้ ทางที่ดี จึงควรกระจายความเสี่ยง ด้วยการจัดการช่องทางการขายที่หลากหลาย และมีช่องทางเป็นของตัวเอง เพื่อให้สามารถยืนหยัดอยู่ได้ แม้ว่าจะต้องเผชิญวิกฤติที่แพลตฟอร์มต่าง ๆ ทยอยปรับเปลี่ยน จนทำให้ทำงานยากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม: ลูกค้าขาประจำ

เรื่องที่คล้ายกัน

Leave a Comment