เจาะลึก 5 ขั้นตอน การสร้างแบรนด์อย่างไรให้เป๊ะ ปัง และยั่งยืน

by kanlongthun
การสร้างแบรนด์

ในยุคที่สินค้ามีหน้าตา ราคา และฟังก์ชั่นการใช้งานที่แทบไม่ต่างกัน การจะแข่งขันในสมรภูมิแดงเดือดนี้ได้ จึงไม่ง่ายสำหรับแบรนด์ใหม่ ๆ สิ่งที่จะสร้างความแตกต่างให้ลูกค้ารู้จัก จดจำ  และยอมรับ ก็คือ การสร้างแบรนด์ แต่ผู้ประกอบไม่น้อยที่ยังไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ดีพอ การเผชิญอุปสรรคทั้งต้นทุน ราคา รวมไปถึงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ จึงทำให้ธุรกิจซวนเซ ยืนหยัดอยู่ได้ไม่ง่ายนัก การมาทำความรู้จัก และสร้างแบรนด์อย่างจริงจัง จึงเป็นความหวังที่จะพาธุรกิจให้อยู่รอดได้ แล้วต้องทำอย่างไร

มาเรียนรู้การสร้างแบรนด์และทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กัน 

1. สร้างตัวตนของแบรนด์ให้ลูกค้ารู้จัก และยอมรับ

การจะทำให้คนทั่วไปจดจำเราได้ ท่ามกลางสินค้าที่มีหลากหลาย แม้แต่ในประเภทเดียวกันก็ยังมีนับสิบ แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำไม่ได้ การสร้างตัวตนของแบรนด์ให้มีความโดดเด่นนั้น ต้องอาศัยการวางแผน และเข้าใจตัวเองอย่างลึกซึ้งซะก่อน เพื่อจะได้ออกแบบอัตลักษณ์ของแบรนด์ให้สะท้อนตัวตนที่แท้จริงออกมาได้มากที่สุด ทั้งบุคลิกภาพ การสื่อสาร การแสดงออก ผ่านไปยังสัญลักษณ์ สีสัน ข้อความ ที่ลูกค้าเป้าหมายสามารถแยกแยะได้ว่าคือตัวตนของแบรนด์นี้ 

2. กำหนดคุณค่าแบรนด์ให้ตรงใจลูกค้า

ความสำเร็จของการ สร้างแบรนด์ไม่ใช่เพียงลูกค้าสามารถจดจำเราได้ แต่ยังหมายรวมไปถึงการเข้าใจคุณค่า ประโยชน์ที่แบรนด์พร้อมจะส่งมอบไปถึงลูกค้าเป้าหมาย ทั้งคุณค่าจากสินค้า และบริการที่แตกต่าง ไม่เหมือนใคร รวมไปถึงการสื่อสารคุณค่าที่เกิดขึ้นไปสู่ลูกค้า ผ่านเรื่องเล่าที่ทำให้ทุกคนเข้าใจ มีอารมณ์และความรู้สึกร่วมไปกับแบรนด์ ซึ่งจะทำให้แบรนด์ไม่ใช่เป็นเพียงสินค้า หรือบริการอีกต่อไป เพราะแบรนด์ได้เข้าไปอยู่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของกลุ่มเป้าหมายไปแล้ว

3. ทำความรู้จักลูกค้าเป้าหมายให้ลึกซึ้ง

เพราะสินค้าและบริการในปัจจุบัน ไม่อาจจะขายให้กับทุกคนได้เหมือนเช่นในอดีตที่ผู้บริโภคไม่มีตัวเลือก แต่สำหรับปัจจุบัน เขามีทางเลือกที่หลากหลายซึ่งทำให้ลูกค้าเปลี่ยนใจได้ตลอดเวลา การทำความรู้จักกลุ่มลูกค้าอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนลึกซึ้งไปถึงจิตใจ ว่าลูกค้าคิด ลูกค้าต้องการสินค้าและบริการแบบไหน ต้องสื่อสารกับเขาด้วยคำพูด วิธีการแบบใด ผ่านช่องทางไหน และจะทำอย่างไรให้เขายอมรับเชื่อถือ ไว้วางใจ นี่เป็นโจทย์สำคัญที่จะทำให้สินค้าขายได้

4. สื่อสารแบรนด์ในช่องทางที่กลุ่มเป้าหมายติดตาม

ในยุคที่ผู้บริโภคมีเวลาจำกัด และต้องทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ทำให้เกิดภาวะสมาธิสั้น ที่ไม่สามารถจดจ่อกับเรื่องใดได้ในระยะเวลานานๆ การโฆษณาแบบเดิม ๆ จึงไม่เหมาะสมอีกต่อไป การสร้างการรับรู้ของแบรนด์ เพื่อขยายผลไปสู่การทำให้เขาจดจำ ยอมรับเชื่อใจ และตัดสินใจซื้อ ต้องมีการออกแบบคอนเท้นต์ที่เป็นประโยชน์ สร้างอารมณ์และความรู้สึกร่วมให้เกิดขึ้น เพราะทุกวินาทีของเขามีค่า ทุกเนื้อหาที่เขาเสพจึงต้องโดนใจ

5. ศึกษาแบรนด์คู่แข่ง แซงหน้าให้ได้

รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง การเข้าใจแต่แบรนด์ตัวเอง อาจจะไม่ใช่สูตรที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้เต็ม 100 การทำความรู้จัก เข้าใจในแบรนด์คู่แข่ง ทั้งในประเภทสินค้าและบริการชนิดเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันซึ่งใช้แทนกันได้ เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากรู้จุดแข็ง และจุดอ่อน ก็จะสามารถสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดที่สามารถมัดใจลูกค้าได้เหนือกว่าคู่แข่งได้

แบรนด์ที่ดี ไม่เพียงช่วยสร้างให้ผู้บริโภคจดจำสินค้า หรือบริการได้ แต่ยังช่วยส่งเสริมยอดขาย และผลักดันให้แบรนด์ยังคงอยู่ในใจ ทำให้ลูกค้ามีความผูกพันไม่เปลี่ยนใจไปใช้แบรนด์อื่น การยอมลงทุนสร้างแบรนด์ที่มีคุณภาพตั้งแต่ต้น จึงถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพื่ออนาคตที่สดใสของธุรกิจที่จะยังมีชีวิต มีลมหายใจต่อไปอย่างมั่นคง และยั่งยืน

อ่านเพิ่มเติม: 5 หลุมพลาง ที่ผู้ประกอบการมือใหม่มักหลงกล สับสนจนทำธุรกิจพัง

เรื่องที่คล้ายกัน

Leave a Comment