สื่อสารอย่างไรให้ได้ใจกลุ่มเป้าหมาย กับ กลยุทธ์ 7 C ที่นักสื่อสารการตลาดควรรู้และเข้าใจ

by kanlongthun
กลยุทธ์ 7 C

ในการทำธุรกิจ องค์ประกอบหนึ่งที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้ ก็คือ มีการสื่อสารที่ดี และมีประสิทธิภาพ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยเฉพาะการสร้างการรับรู้ในตัวสินค้าและบริการ รวมไปถึงการส่งเสริมสร้างชื่อเสียง รวมไปถึงภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กร เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และได้รับการยอมรับจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย รวมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์กร การสื่อสารโดยใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสมมีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้สาร และสื่อที่ถูกใช้ เกิดประสิทธิภาพ สร้างประสิทธิผลให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งกลยุทธ์ 7 C เป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์ซึ่งนักสื่อสารการตลาดควรรู้และเข้าใจ เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้

ซึ่งกลยุทธ์ 7 Cจะมีอะไรที่ต้องโฟกัสบ้าง มาติดตามพร้อม ๆ กันเลย 

1. ถูกต้อง (Correct) 

ทุกสาร หรือข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องกับองค์กรที่ถูกเผยแพร่ออกไป ไม่ว่าจะผ่านทางหน่วยงานด้านสื่อสาร หรือพนักงาน จำเป็นต้องมีการตรวจสอบให้มีความถูกต้อง เป็นข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือ เพราะหากมีข้อมูลที่ผิดพลาด ปราศจากความเป็นจริง ก็อาจจะมีผลกระทบทำให้เกิดความเข้าใจผิด จนนำมาซึ่งปัญหาที่อาจจะลุกลามบานปลาย จนกระทบไปถึงชื่อเสียง และการดำเนินธุรกิจได้ 

2. หนักแน่น (Concrete)

ความน่าเชื่อถือ เป็นสิ่งสำคัญที่จะจูงใจให้ผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งได้รับข้อมูลข่าวสารนั้น ๆ เกิดความน่าเชื่อถือ สารที่ส่งไปถึงจึงต้องมีความหนักแน่น มีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์และยืนยันได้ มีข้อมูลสถิติ หรือเสียงสนับสนุนจากผู้ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจมาเป็นผู้การันตี จะยิ่งทำให้สิ่งที่สื่อสารออกไป มีความน่าเชื่อเพิ่มมากยิ่งขึ้น 

3. กระชับ (Concise)

ด้วยกลุ่มเป้าหมายมีเวลาในการให้ความสนใจกับเรื่องต่าง ๆ ค่อนข้างจำกัด และมีสิ่งเร้าให้ลูกค้าเสียสมาธิจากข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่มากมาย การเล่าเรื่องและสื่อสารที่สั้น กระชับ ชัดเจน ไม่จำเป็นต้องตีความให้เสียเวลา ที่อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ทุก ๆ เรื่องที่สื่อสารมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม 

4. สมเหตุสมผล (Coherent)

ประเด็นที่จะหยิบยกนำมาสื่อสาร จะเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน ไม่ควรเป็นเรื่องที่ล่องลอย ไร้แก่นสาร และไม่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมาย ทุกครั้งที่เล่า จึงต้องมองหาสิ่งที่จะมาอ้างอิง หรือยืนยันถึงที่มา และผลลัพธ์อย่างเป็นจริงเป็นจัง และน่าเชื่อถือ เชื่อมโยงกับประสบการณ์ที่กลุ่มเป้าหมายเคยสัมผัส 

5. มีมารยาท (Courteous)

ทุกครั้งที่มีการสื่อสารเรื่องใดออกไปต้องมั่นใจเสมอว่า เป็นสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบต่อแบรนด์ โดยควรบอกเล่าอย่างมีมารยาท ไม่พาดพิง กล่าวถึงบุคคลอื่น ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่สร้างประเด็นให้เกิดความขัดแย้ง ดูถูก เหยียดหยาม หรือกล่าวร้ายต่อใคร ควรให้เกียรติแก่ทุกคน เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน 

6. ชัดเจน (Clear) 

ก่อนที่จะกำหนดประเด็นที่จะสื่อสาร ควรมีการวางเป้าหมายก่อนว่า จะสื่อสารเพื่อให้เกิดผลในด้านใด สิ่งที่จะบอกเล่านั้น นำไปสู่ความสำเร็จของจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ โดยควรคำนึงถึงความชัดเจน ทั้งในด้านของกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสื่อสาร รวมไปถึงผลลัพธ์ที่ต้องการให้เกิดขึ้น หลังจากที่ได้มีการเผยแพร่เรื่องนั้น ๆ ออกไปแล้ว 

7. ครบถ้วน (Complete) 

ในการวางแผนด้านการสื่อสาร สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ ความครบถ้วนของเนื้อหา ที่ไม่ควรตัดทอนจนทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน หรือสั้นจนไม่ทำให้เกิดความเข้าใจ ควรเลือกประเด็นที่สามารถสื่อสารได้ชัดเจน และแบ่งสัดส่วนให้สามารถร้อยเรียงเล่าเรื่องได้ง่าย มีเนื้อหาที่สมบูรณ์ครบถ้วน และตอบโจทย์ต่อสิ่งที่ลูกค้า หรือกลุ่มเป้าหมายต้องการทราบ 

เพราะการสื่อสารส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ก่อนที่จะเผยแพร่เรื่องใดออกไปจากฝั่งองค์กร จึงต้องคิดพิจารณาอย่างรอบด้าน เพื่อให้ทุก ๆ การสื่อสารเป็นประโยชน์ต่อการสร้างชื่อเสียง รวมไปถึงส่งเสริมให้เกิดการซื้อขาย ทำให้ธุรกิจเติบโต และเป็นการป้องกันรักษาภาพลักษณ์ขององค์กร ให้มีความน่าเชื่อถือ และเป็นแบรนด์ที่อยู่ในใจของกลุ่มเป้าหมายตลอดไป

อ่านเพิ่มเติม: การลงทุน

เรื่องที่คล้ายกัน

Leave a Comment