
ในการทำธุรกิจ มักจะมีเหตุการณ์วิกฤติที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอ ความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ อาจจะส่งผลกระทบให้ธุรกิจเกิดการสะดุด ขาดความต่อเนื่อง และอาจจะรุนแรงถึงขั้นทำให้ธุรกิจต้องปิดกิจการ ดังนั้น เจ้าของธุรกิจ ผู้บริหารองค์กร จึงควรมีแผนสำรองในการจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสม เพื่อให้กิจการมีแนวทางในการป้องกัน และดูแลอย่างเป็นระบบ เพื่อปิดโอกาสที่ความเสี่ยงเหล่านั้นจะเกิดขึ้น หรือลดทอนความรุนแรงให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้
การจัดการความเสี่ยงมีขั้นตอนง่ายๆ ที่สามารถทำได้จริง ดังนี้
1. รวบรวมข้อมูลความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจ
ก่อนที่จะไปสู่ขั้นตอนของการบริหารความเสี่ยง สิ่งที่เจ้าของกิจการ และผู้บริหารองค์กรต้องรู้ คือ ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับธุรกิจมีอะไรบ้าง โดยควรจะสรุปรวบรวมให้รอบด้าน ทั้งความเสี่ยงด้านการเงินการลงทุน ความเสี่ยงด้านการผลิตและการบริการ ด้านบุคลากร ด้านกฏหมายและข้อบังคับต่างๆ รวมไปถึงเหตุฉุกเฉินที่ไม่คาดคิด เช่น เพลิงไหม้ โรคระบาด ฯลฯ การเข้าใจถึงที่มาของความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้กับธุรกิจ จะเป็นต้นทางที่คนในองค์กรจะช่วยกันหยุดยั้งความเสี่ยงเหล่านี้ได้
2. ประเมินความเสี่ยง และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
เมื่อได้ข้อมูลความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นมาแล้ว สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อมาก็คือ การให้พนักงานแต่ละแผนกช่วยกันวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงแต่ละด้านว่ามีความผลกระทบอย่างไร ความรุนแรงถึงที่จะเกิดขึ้นทั้งหนัก และเบาจะเป็นอย่างไร มีปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงประเภทนั้นๆ เกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้ทุกแผนกเห็นความเชื่อมโยงที่จะมีถึงกัน ทำให้มองเห็นภาพรวมที่จะเกิดขึ้นชัดเจน และจะนำไปสู่การหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขได้
3. หาแนวทางและวิธีการ จัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม
เมื่อทราบถึงเหตุที่มาของการเกิดความเสี่ยง ประเมินความถี่ในการเกิด ความรุนแรง และผลกระทบที่มีต่อธุรกิจแล้ว สิ่งที่ต้องดำเนินการขั้นต่อมา ก็คือ การช่วยกันหาแนวทาง และวิธีการจัดการบริหารความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม โดยควรเน้นไปที่การป้องกันการเกิดขึ้นเป็นอันดับแรกก่อน เพื่อลดขั้นตอนที่จะต้องมาแก้ไข แต่หากความเสี่ยงนั้นยากจะหาทางป้องกัน ก็ต้องมีการหาวิธีการลดผลกระทบที่จะตามมาให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
4. จัดทำแผนการบริหารความเสี่ยง และการดำเนินการ
เมื่อได้วิธีการที่เหมาะสมต่อการบริหารจัดการความเสี่ยงแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ การจัดทำแผนการดำเนินการร่วมกันของแผนกที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการมีความเชื่อมโยง มีความเข้าใจตรงกัน มีแนวทางปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน และแผนที่จัดทำขึ้นนั้นต้องสามารถดำเนินการได้จริง เมื่อมีเหตุการณ์หรือวิกฤติต่าง ๆ สามารถนำแผนมาใช้ได้อย่างทันท่วงที
5. ประเมินผล และหาแนวทางปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น
โดยในทุก ๆ สิ้นปี สิ่งที่ต้องมีการดำเนินการเป็นประจำ คือการประเมินผล และทบทวนความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากอาจจะมีตัวแปร และปัจจัยต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป อาจจะทำให้ความเสี่ยงเดิมหายไป มีความเสี่ยงใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาทดแทน ซึ่งจะต้องมาประเมิน และวางแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงนั้น ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้มีความทันสมัย สอดคล้องต่อการดำเนินธุรกิจอยู่ตลอดเวลา
ความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจ สามารถบริหารจัดการได้ ด้วยความร่วมมือของทั้งเจ้าของกิจการ ผู้บริหารธุรกิจ รวมไปถึงพนักงานทุกคน ที่ต้องช่วยกันคิด วางแผน และดำเนินการอย่างเป็นระบบ ปฏิบัติตามแผนอย่างสม่ำเสมอ และหมั่นทบทวนให้มีความสอดคล้องต่อบริบททางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพียงแค่นี้ก็สามารถปิดโอกาสที่ความเสี่ยงเหล่านั้นจะแผลงฤทธิ์ทำให้ธุรกิจสั่นคลอนได้แล้ว
อ่านเพิ่มเติม: 5 เทคนิคการวางแผนการตลาดอย่างไร สร้างกำไรให้ธุรกิจเติบโต