5 เทคนิค บริหารจัดการกระแสเงินสดอย่างไร ให้ธุรกิจไม่มีสะดุด

by kanlongthun
กระแสเงินสด

สภาพคล่องของธุรกิจที่มาจากการบริหารจัดการเงินสดอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเสมือนสายเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงหัวใจให้ธุรกิจอยู่รอด และเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แต่หากเส้นเลือดนี้ตีบตัน ขาดสภาพคล่องเมื่อไหร่ ย่อมหมายถึงธุรกิจกำลังเผชิญกับวิกฤติ ที่ต้องรีบผ่าตัด เพื่อให้บริษัท หรือกิจการเหล่านี้ ยังมีลมหายใจต่อไปได้ เจ้าของกิจการ หรือผู้บริหารธุรกิจ จึงต้องให้ความสำคัญต่อการบริการจัดการกระแสเงินสด หรือ cash flow โดยจะมีเทคนิคอะไรที่น่าสนใจ ซึ่งนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพบ้าง มาติดตาม และนำไปปฏิบัติกัน

มีเทคนิคอะไรที่น่าสนใจ ในการบริการจัดการกระแสเงินสด

1. วิเคราะห์ประเมินความเสี่ยง และทำแผน พร้อมทั้งวิธีป้องกันความเสี่ยงล่วงหน้า

ในแต่ละประเภทธุรกิจย่อมมีความเสี่ยงทั้งเหมือนและแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละองค์กร สิ่งสำคัญคือการมองให้ออกว่าความเสี่ยงประเภทไหนที่จะส่งผลกระทบต่อกระแส เงินสดที่มีอยู่ในมือ เป็นเหตุให้ขาดสภาพคล่อง โดยควรประเมินความเสี่ยงอย่างรอบด้าน ทั้งปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก และความมีการจัดทำแผนการรับมืออย่างเป็นระบบ และทบทวนแผนตามระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้แผนที่จัดทำไว้พร้อมใช้งาน และมีประสิทธิภาพต่อการรองรับความเสี่ยงนั้นๆ 

2. ตรวจสอบเงินสดที่เข้าออกอย่างสม่ำเสมอ

การทำบัญชีรายรับ และรายจ่าย อย่างเป็นระบบ มีข้อมูลที่อัพเดทอย่างถูกต้องอยู่เสมอ จะทำให้เจ้าของกิจการ หรือผู้บริหารธุรกิจ มองเห็นตัวเลขที่เป็นจริง สำหรับการตรวจสอบเงินสดที่มีอยู่ในมือ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการใช้จ่าย และการลงทุนให้สอดคล้องต่อความสามารถในการชำระหนี้ โดยควรมีการคาดการณ์รายรับ และปรับแผนรายจ่ายอย่างเหมาะสม หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นต้องรีบแก้ไขทันที

3. กระตุ้นให้ลูกค้าซื้อสินค้าซ้ำต่อเนื่อง ด้วยโปรโมชั่นพิเศษ

หากสินค้าหรือบริการขายได้น้อยลง จนเป็นเหตุให้สถานะสภาพคล่องเงินสดขององค์กรลดลง เจ้าของกิจการ หรือผู้บริหารบริษัท ควรมีการวางแผนเพื่อกระตุ้นให้เกิดยอดขายเพิ่มเติม ผ่านการจัดทำโปรโมชั่นพิเศษ เพื่อส่งเสริมยอดขาย และสนับสนุนให้เกิดการซื้อซ้ำ ด้วยแผนบริหารจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า หรือ CRM ผ่านการเก็บข้อมูลลูกค้าอย่างเป็นระบบ สำหรับนำมาใช้ในการวิเคราะห์ ออกแบบเพื่อจัดทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย ที่สอดคล้องต่อพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคในช่วงนั้น ๆ  

4. บริหารต้นทุนและสต็อคสินค้าอย่างเป็นระบบ

การสั่งซื้อวัตถุดิบ และสั่งผลิตสินค้าในแต่ละครั้งเป็นจำนวนมาก สามารถทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลงได้ แต่ธุรกิจควรวางแผนให้สอดรับกับระดับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละช่วง เพื่อไม่เกิดสภาวะในการนำเงินสดไปใช้ จนเกิดต้นทุนจม ไม่สามารถขายสินค้าได้ ส่งผลทำให้ขาดเงินสดในมือ และควรมีการตรวจสอบสต็อคสินค้าทุกประเภทอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้คงค้างจนเกิดความเสียหาย ต้องทิ้ง หรือขายในราคาที่ต่ำลง จนกลายเป็นขาดทุน

5. เปลี่ยนสิ่งของเหลือใช้นำมาเป็นเงินสดในมือ

ในช่วงที่มีค่าใช้จ่ายเยอะ แต่มีรายรับน้อย นอกจากการลดทอนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงแล้ว การนำสิ่งที่ไม่ได้ใช้ หรือใช้แต่จำนวนน้อย นำออกมาจำหน่าย แลกเปลี่ยนเป็นเงินสดกลับมาเข้าบริษัท เป็นช่องทางหนึ่งที่จะเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจได้ โดยอาจจะเป็นแผนระยะสั้น ในช่วงเผชิญวิกฤติต่างๆ ที่อาจจะไม่ได้มีการวางแผนล่วงหน้า และควรเตรียมแผนสำรองเพิ่มเติม เพื่อให้ธุรกิจยังเดินหน้าได้ในระยะยาว 

เงินสด แปรผันโดยตรงกับรายรับ และรายจ่าย การบริหารต้นทุน และรายได้ ผ่านการทำบัญชีที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยให้เจ้าของกิจการ หรือผู้บริหารบริษัท สามารถบริหารกระแสเงินสดได้อย่างเหมาะสมกับแต่ละสภาวะการณ์ ซึ่งการจะทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้นั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหัวหน้าแผนก รวมไปถึงพนักงานทุกคนที่จะร่วมมือกัน เพื่อให้ทุกแผนการดำเนินการเป็นไปด้วยความราบรื่น และเกิดประสิทธิภาพตามความมุ่งหวัง 

อ่านเพิ่มเติม: แนะ 7 เทคนิคปิดการขาย พิชิตใจลูกค้า ที่เหล่านักขายควรรู้

เรื่องที่คล้ายกัน

Leave a Comment