
ใกล้จะเริ่มต้นศักราชใหม่ ปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว หรือดิ่งเหวอีกครั้ง ยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองของทั้งภาคธุรกิจ และภาคประชาชน เพราะยังคงมีปัจจัยเสี่ยงในหลาย ๆ ด้าน ทั้งศึกใน ศึกนอก จนอาจยากที่จะเดาออกว่าประเทศไทยจะเดินหน้าไปได้อย่างไร การติดตามข่าวสาร สถานการณ์บ้านเมือง เศรษฐกิจ สังคมอย่างสม่ำเสมอ เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้สามารถปรับตัว วางแผนรับมือล่วงหน้าได้
โดยปัจจัยที่น่าจับตา ที่เสี่ยงทำเศรษฐกิจไทยติดกับดักในปี 2565 มีอะไรกันบ้าง มาติดตามไปพร้อม ๆ กัน
1. การแพร่ระบาดโควิด – 19 ที่ยังไร้จุดจบ
เรียกได้ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ยังคงเป็นปัจจัยอ่อนไหว ที่แม้ประเทศไทยจะมีการฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมประชากรไปเกินครึ่งแล้ว แต่การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส และประสิทธิภาพของวัคซีนที่เมื่อผ่านไปในระยะหนึ่ง ภูมิคุ้มกันในร่างกายจะต่ำลง จนต้องมีการฉีดเข็มกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาครัฐยังคงต้องวางมาตรการเข้มข้น เพื่อจำกัดจำนวนผู้ติดเชื้อ และควบคุมปัจจัยเสี่ยงการนำเชื้อไวรัสกลายพันธุ์จากต่างประเทศเข้ามาระบาดในประเทศไทย ซึ่งแน่นอนว่าสถานการณ์ความไม่แน่นอนเหล่านี้ จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจอย่างปฏิเสธไม่ได้
2. การบริโภคภายในประเทศที่ยังต้องกระตุ้นต่อเนื่อง
เมื่อนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาในไทยยังไม่มากนัก การสร้างเงินสะพัดไปสู่ภาคธุรกิจต่าง ๆ จึงยังคงต้องพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ตลอด 1 – 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการออกนโยบายต่าง ๆ มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งโครงการคนละครึ่ง ช็อปดีมีคืน เราเที่ยวด้วยกัน การแจกจ่ายเงินเยียวยาให้กลุ่มอาชีพต่าง ๆ ซึ่งช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไปได้เป็นช่วง ๆ ทั้งนี้ยังคงต้องจับตาในปี 2565 รัฐบาลจะมีการออกมาตรการใดบ้าง มาช่วยพยุงเศรษฐกิจในประเทศให้ยังสามารถขยับเดินหน้าเติบโตได้ แม้อาจจะไม่มากเท่ากับช่วงก่อนการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19
3. เงินเฟ้อ น้ำมันแพง สินค้าราคาสูงขึ้น
เมื่อประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทยเริ่มกลับมาเปิดประเทศ ภาวะเงินเฟ้อ จากปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นตัวกระตุ้น ทั้งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง กระทบต่อราคาน้ำมันในประเทศไทยที่ขยับตัวสูงขึ้น หลังสถานการณ์โควิด – 19 เริ่มคลี่คลาย ส่งผลต่อภาคการผลิต อุตสาหกรรม การขนส่ง ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบราคาสูงขึ้น กระทบต่อราคาสินค้าที่ทยอยขยับตัวตามไปด้วย ทำให้ค่าครองชีพที่สูงอยู่แล้ว ปรับตัวสูงขึ้นไปอีก กระทบต่อผู้มีรายได้น้อย หนี้ครัวเรือนพยุ่งทะลุเพดาน
4. รัฐบาลหลายประเทศขยับดอกเบี้ยนโยบาย
การเกิดเงินเฟ้อภายในประเทศต่าง ๆ ทำให้รัฐบาลของหลาย ๆ ประเทศ ทยอยออกนโยบายเข้ามาควบคุม โดยการประกาศขยับดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อสร้างสภาพคล่องทางการเงิน ดึงดูดการลงทุนภายในประเทศ ทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อหลายๆประเทศดำเนินนโยบายใกล้เคียงกัน ก็จะทำให้เงินไหลไปมา เคลื่อนตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้เศรษฐกิจผันผวน นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น และชะลอการลงทุน
5. อัตราค่าเงินบาทผันผวน จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน
ด้วยปัจจัยหลาย ๆ ด้าน ที่ยากต่อการคาดเดาว่าจะเป็นไปในทิศทางใด อัตราค่าเงินบาทก็เช่นเดียวกัน หากสภาพเศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้ จากยอดผู้ที่ติดเชื้อโควิด – 19 ที่ลดลง มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น ธุรกิจต่างๆ สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติภายใต้มาตรการต่างๆ สภาวะเช่นนี้ ก็อาจจะทำให้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่า แต่หากสถานการณ์แย่ลงจากการระบาดระลอกใหม่ ก็อาจส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง จากการที่เงินไหลไปสู่สินทรัพย์มั่นคงประเภทอื่นแทน
การเปลี่ยนแปลงในยุคนี้ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาคธุรกิจ และประชาชนที่รู้จักปรับตัว เปลี่ยนแปลงได้เร็วเท่านั้น ที่จะสามารถอยู่รอดได้ ปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมาเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ต้องจับตามอง ควรหมั่นติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวทางการเมือง เศรษฐกิจ การลงทุน การเงินอย่างต่อเนื่อง และควรเตรียมแผนสำรองฉุกเฉินไว้ เพื่อให้สามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที
อ่านเพิ่มเติม: เข้าสู่ปี 2022 ส่อง 5 เทรนด์สุดล้ำ ที่ธุรกิจควรนำมาปรับใช้