
การจะขายสินค้าหรือบริการใด ให้มียอดขายแบบถล่มทะลายได้นั้น ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้เพียงแค่โชคช่วย การวางแผนที่ดี จากความเข้าใจในพฤติกรรมหรือความต้องการของลูกค้าอย่างลึกซึ้ง หรือที่ภาษาการตลาดมักจะเรียกว่า “Insight” นั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่หากเจ้าของธุรกิจ หรือผู้ประกอบการใดมองข้าม ก็อาจจะประสบกับปัญหาต่าง ๆ เช่น สินค้าผลิตมาแล้วขายไม่ได้ ลูกค้านำไปใช้งานแล้วเกิดปัญหา ไม่พึงพอใจ เกิดการร้องเรียน บอกต่อ จนเกิดเป็นกระแสเชิงลบ ที่กระทบจนทำให้ธุรกิจสั่นคลอน ก่อนที่จะผลิตสินค้าหรือบริการชนิดใดออกสู่ตลาด จึงควรเริ่มต้นจากการค้นหา Insight ของลูกค้า โดยมีวิธีต่าง ๆ หลากหลาย ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการรวบรวมข้อมูล สำหรับนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้
โดยจะมีช่องทางหา Insightไหนน่าสนใจบ้าง มาค้นหาคำตอบที่น่าสนใจนี้กันได้เลย
1. ใช้ Keyword ทางธุรกิจ ค้นหาผ่าน Google Keywords Planner
บนโลกออนไลน์ในปัจจุบันที่มีเครื่องมือหลากหลายชนิด ที่สามารถนำมาใช้ในการเก็บข้อมูล หรือค้นหา Insight ของลูกค้าได้ หนึ่งในวิธีที่ลูกค้ามักใช้บ่อย ๆ ในการหาสินค้าที่ตัวเองต้องการก็คือ การใช้ Keywords ผ่าน Search Engine ยอดฮิตอย่าง Google ซึ่งผู้ประกอบการเองก็สามารถนำเครื่องมือที่ชื่อว่า Google Keywords Planner มาประยุกต์ใช้ในการค้นหาคำยอดนิยมที่ลูกค้าค้นหา เพื่อเก็บข้อมูลว่าสินค้าที่ผลิตมานั้นลูกค้าให้ความสนใจมากน้อยขนาดไหน และหากจะทำการโปรโมทควรเน้นใช้คำใด
2. เจาะลึกถึงกลุ่มเป้าหมายที่คาดหวัง ผ่านการสัมภาษณ์พูดคุย
เสียงสะท้อนจากปากผู้บริโภคตัวจริง ถือเป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ถึงความต้องการ การค้นหา Insight ของลูกค้า จึงขาดวิธีนี้ไปไม่ได้ นั่นก็คือ การพูดคุยสัมภาษณ์กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เพื่อสร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้ง ไปถึงเบื้องหลังพฤติกรรม ความชอบ ความสนใจ การใช้งาน ความต้องการที่อยากให้มี หรือแม้แต่การค้นหาสิ่งที่จะสร้างความแตกต่าง เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ จากไอเดียเล็ก ๆ ที่ลูกค้าพูดถึง ซึ่งนักการตลาด หรือผู้ประกอบการสามารถหยิบจับมาพัฒนาจนกลายเป็นอัตลักษณ์ได้
3. ใช้ข้อมูลสถิติระบบหลังบ้านของ Social Media ต่าง ๆ
คงไม่มีใครปฏิเสธว่าผู้บริโภคยุคนี้ ใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์เกือบจะตลอดทั้งวัน โซเชียลมีเดีย จึงเป็นแพลตฟอร์มที่ลูกค้าเลือกจะไปเสพข้อมูล ข่าวสาร ความบันเทิงต่าง ๆ ซึ่งในระบบหลังบ้านของแต่ละที่จะมีการเก็บข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานไว้ ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำความเข้าใจกับลูกค้าที่ชื่นชอบติดตามแพลตฟอร์มนั้น ๆ ของสินค้า / บริการ หรือแบรนด์ การเข้าไปถอดรหัสข้อมูลต่าง ๆ จากระบบหลังบ้านจึงเป็นอีกช่องทางที่ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจ Insight ของลูกค้าได้
4. เก็บข้อมูลความคิดเห็นจากผู้ที่มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า
นอกจากการไปเก็บข้อมูลจากบุคคลภายนอกซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย การใช้เครื่องมือบนโลกออนไลน์แล้ว กลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าโดยตรง ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้สามารถเข้าถึง Insight ของผู้บริโภคได้ ไม่ว่าจะเป็นแผนกขาย แผนกลูกค้าสัมพันธ์ แผนกช่าง แผนกแม่บ้าน รปภ. หรืออื่น ๆ ที่ต้องติดต่อกับลูกค้าบ่อย ๆ ที่พอจะให้คำตอบได้ว่าลูกค้ามี Pain Point ในจุดใด มีความต้องการด้านใด และต้องการให้ปรับปรุงแก้ไขในจุดใดที่เป็นปัญหา
5. ค้นหาจากรายงานการวิจัยจากสถาบันต่าง ๆ
ในบางครั้งที่ต้องการข้อมูลในเชิงวิชาการเพื่อนำมาอ้างอิง สำหรับการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวสินค้าหรือบริการแก่ผู้บริโภค การค้นหาข้อมูลผ่านงานวิจัยต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง จึงเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการได้มาซึ่งข้อมูลที่มีความถูกต้องแม่นยำ และได้รับการรับรองจากหน่วยงาน สถาบันการศึกษาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งถือเป็นแหล่งข้อมูลที่พร้อมจะสามารถนำมาวิเคราะห์ ประมวลผล สำหรับการประยุกต์ใช้เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจผู้บริโภค
การเข้าใจพฤติกรรม รวมไปถึงจิตใจ ผ่านข้อมูล Insight ของผู้บริโภคนั้น นับเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการมีความแตกต่าง สร้างความได้เปรียบในเชิงการแข่งขัน และเมื่อนำสินค้าออกสู่ตลาด ก็มีเปอร์เซนต์สูงที่สินค้าหรือบริการจะตอบโจทย์ผู้บริโภค ทำให้เกิดยอดขาย สร้างกำไรให้ธุรกิจได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ คุ้มค่าต่อการลงทุน ในการวางแผน และใส่ใจในรายละเอียดในทุกกระบวนการก่อนที่จะถึงมือผู้บริโภค
อ่านเพิ่มเติม: Marketing Analysis