วางแผนการศึกษาของลูก ด้วย 4 เทคนิค พิชิตเป้าหมายได้จริง

by kanlongthun
วางแผนการศึกษา

พ่อแม่ที่มีลูกทุกคนคงคาดหวังให้ลูกได้รับการศึกษาที่ดี วางแผนการศึกษาลูกเพื่อสร้างอนาคตที่สดใสให้กับบุตรหลานของตัวเอง ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านการเรียนในปัจจุบันและในอนาคต คาดว่าจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น ตามอัตราเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะเป็นค่าเทอม ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเรียนพิเศษ และอื่น ๆ ที่ต้องมีการตระเตรียมเงินสำรองไว้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะมีกองทุนที่สนับสนุนให้ลูกสำเร็จการศึกษาในระดับที่มุ่งหวัง มีอาชีพการงานที่ดี มั่นคง ได้ใช้ความรู้ความสามารถที่ร่ำเรียนมาให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่การจะพิชิตเป้าหมายนั้นได้ ต้องผ่านการวางแผน และลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ซึ่งต้องทำอย่างไรบ้าง

มาทำความเข้าใจวางแผนการศึกษาของลูก และนำไปปรับใช้เพื่ออนาคตของลูกกันได้เลย 

1. วางเป้าหมายให้ชัดเจน มาตรฐานการศึกษาแบบไหนที่อยากเตรียมไว้ให้ลูก

ทุกการเดินทางย่อมต้องมีจุดหมายปลายทาง เพื่อเป็นหมุดหมายที่ต้องไปให้ถึง การวางแผนการลงทุนเพื่อการศึกษาของลูกก็เช่นเดียวกัน พ่อแม่ต้องมองเห็นให้ชัดเจนตรงกันว่า จะส่งลูกเรียนในรูปแบบใด โรงเรียนชื่อดัง โรงเรียนเอกชน โรงเรียนนานาชาติ และจะส่งเสียให้เรียนจนถึงระดับไหน ปริญญาตรีก็เพียงพอ หรือจะส่งให้เรียนจนถึงระดับปริญญาเอก ถ้ามีเงินมากเพียงพอ การระบุเส้นทางการศึกษาที่ชัดเจน จะทำให้สามารถก้าวไปสู่ขั้นตอนอื่น ๆ ได้อย่างแม่นยำ

2. ศึกษาข้อมูลค่าใช้จ่ายที่ต้องสำรองไว้

หลังจากที่วางแผนตั้งเป้าหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ต้องมาประเมินค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องใช้ตลอดระยะเวลาในการเรียนรู้ของลูก ๆ จนกว่าจะสำเร็จการศึกษา โดยควรหาข้อมูลในรูปแบบสถานศึกษาที่ต้องการให้บุตรหลานได้เข้าศึกษาต่อ ในแต่ละระดับ จำเป็นต้องใช้เงินในด้านต่าง ๆ จำนวนเท่าไหร่ และที่สำคัญควรมีการบวกอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีเข้าไปด้วย เพราะการคิดเพียงแค่เงินต้น ณ ปัจจุบัน แต่มองข้ามอนาคตที่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ พากันปรับขึ้นค่าเทอม และค่าบำรุงการศึกษา ก็อาจจะทำให้ตัวเลขผิดเพี้ยน กลายเป็นมีเงินไม่เพียงพอต่อการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ 

3. เลือกเครื่องมือการลงทุน เพื่อไปให้ถึงฝั่งฝัน

เมื่อได้ยอดตัวเลขประเมินค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ต้องเตรียมไว้สำหรับการศึกษาของลูกแล้ว แน่นอนว่าการเก็บออมจากรายได้เพียงช่องทางเดียว อาจจะไม่เพียงพอที่จะทำให้เป้าหมายสำเร็จลุล่วงได้ ดังนั้น ควรนำเงินออมไปลงทุนเพื่อให้เกิดดอกผลพอกพูน โดยควรเลือกเครื่องมือที่เหมาะสม ที่ผู้ลงทุนมีความรู้ความเข้าใจ และมีเวลาในการศึกษา ปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมไปถึงได้ผลกำไรที่สอดคล้องต่อเป้าหมาย 

4. บริหารจัดการความเสี่ยงให้สมดุลและเหมาะสม 

อีกหนึ่งสิ่งที่ไม่อาจจะละเลย หรือมองข้ามไปได้ ก็คือ ความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากการนำเงินไปลงทุน ซึ่งควรมีการประเมิน และบริหารจัดการกระจายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่เสี่ยงสูงจนทำให้มีโอกาสที่จะสูญเสียเงินต้น เกิดการขาดทุน และไม่ต่ำเกินไป จนได้กำไรไม่คุ้มค่ากับการลงทุน และความเสี่ยงอีกรูปแบบก็คือ ผู้ปกครองเกิดเสียชีวิต หรือทุพลภาพ ไม่สามารถสะสมเงินได้ต่อ ที่ควรหาทางออก ด้วยการซื้อประกันชีวิต เพื่อเป็นแหล่งเงินสำรองหากเกิดเหตุไม่คาดคิดเกิดขึ้น 

เพราะการศึกษา เป็นรากฐานที่สำคัญที่จะยกรับคุณภาพชีวิตของบุตรหลานให้ดียิ่งขึ้นได้ การวางแผนการลงทุนเพื่อสนับสนุนสร้างโอกาสการเรียนในระดับที่เหมาะสม จึงเป็นสิ่งที่พ่อแม่ที่มีลูก ควรมีดำเนินการจัดสรรเงินออม นำมาลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อพิชิตเป้าหมายในการสร้างกองทุนเพื่อส่งเสริมการศึกษาแก่ลูกๆ และเป็นหลักประกันที่รองรับความเสี่ยง เมื่อผู้ปกครองเสียชีวิต หรือพิการไม่สามารถทำงานได้เช่นเดิม

อ่านเพิ่มเติม: ใช้บัตรเครดิตอย่างไรให้คุ้มค่า

เรื่องที่คล้ายกัน

Leave a Comment