
ประเทศไทย รวมไปถึงอีกหลาย ๆ ประเทศ กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบเต็มตัว ประชากรวัยหนุ่มสาวที่เป็นหัวเลี่ยวหัวแรงในการหาเงินเข้าบ้าน อาจจะต้องรับบทหนักมากขึ้น เพื่อสำรองเงินไว้ในการดูแลพ่อแม่ที่ไม่ได้ทำงาน ไม่มีรายได้ และสุขภาพเริ่มแย่ลง มีโรคประจำตัว ต้องไปพบหมอ เข้ารับการรักษา และต้องได้รับยาเป็นประจำ โดยเฉพาะหากไม่ได้ทำประกันไว้ อาจจะยิ่งทำให้มีความเสี่ยงที่จะมีเงินไม่เพียงพอในการใช้จ่าย และรักษาพยาบาลจะยิ่งมากขึ้น แต่ก่อนจะซื้อประกันให้พ่อแม่ เข้าใจอย่างถ่องแท้หรือยัง เป็นคำถามน่าคิด ที่อยากจะชวนมาทำความรู้จัก ก่อนตัดสินใจ
4 เรื่องควรรู้ ก่อนซื้อประกันให้พ่อแม่
1. ประกันผู้สูงวัย ที่ราคาไม่เบา
ประกันชีวิต โดยทั่วไปสามารถทำได้ตั้งแต่เด็กเล็ก ไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยเบี้ยประกันจะแตกต่างกันไป ตามความเสี่ยง และเงื่อนไขในการชดเชย ทั้งนี้สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ขึ้นไป ซึ่งสุขภาพร่างกายอาจจะเสื่อมถอยลงไปตามวัย จะทำให้เบี้ยประกันที่ต้องจ่ายสูงขึ้นตามไปด้วย โดยบริษัทประกันบางบริษัทก็อาจจะจำกัดอายุไว้ที่ไม่เกิน 55 ปี หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเมื่อตรวจพบก็อาจจะไม่รับทำประกัน การตัดสินใจทำประกันให้พ่อแม่ที่อายุเยอะ จึงต้องเตรียมเงินไว้จำนวนมากเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละปี
2. ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามจริง
สำหรับผู้ที่มีฐานภาษีที่ต้องชำระในแต่ละปีค่อนข้างสูง การนำยอดเงินซื้อประกันชีวิตทั้งของตนเอง และคนในครอบครัวมาเป็นยอดในการลดหย่อนภาษี ก็เป็นอีกทางเลือกที่จะทำให้ประหยัดเงินที่ต้องจ่ายลงได้ โดยการซื้อประกันสุขภาพให้พ่อแม่นั้น สามารถนำมาใช้ลดหย่อนได้ตามจริง แต่ยอดรวมสูงสุดจะไม่เกิน 15,000 บาทต่อปีเท่านั้น ซึ่งหากมุ่งเป้าไปที่การประหยัดภาษีเป็นเรื่องหลัก ก็ต้องพิจารณาให้ดีว่าเงินที่ต้องจ่ายภาษี กับเงินที่ต้องจ่ายค่าประกัน อันไหนจะคุ้มค่า และเกิดผลดีกว่ากัน
3. จ่ายเบี้ยรายปี ไม่เงินเงินคืน
การทำประกันสุขภาพ มีเป้าหมายสำคัญคือป้องกันเหตุความเสี่ยงที่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากสำหรับการรักษาพยาบาล รวมไปถึงชดเชยรายได้ในช่วงที่ไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งจะเป็นรายจ่ายประจำปีที่ไม่มีการจ่ายเงินคืน เหมือนประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ทำให้ผู้ทำประกันชีวิตให้พ่อแม่ ต้องเตรียมเงินไว้เป็นค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ไปกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของตนเอง หรือคนในครอบครัวด้วย
4. ประกันชีวิต กับ ประกันสูงผู้สูงอายุ ต่างกัน
การทำประกันให้พ่อแม่นั้น มีให้เลือกด้วยกัน 3 ประเภท ได้แก่ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันสะสมทรัพย์ โดยแต่ละแบบมีความแตกต่างกันตรงความคุ้มครองกรณีเจ็บป่วย ซึ่งหลายคนมักเข้าใจผิดว่า ประกันชีวิต และประกันสะสมทรัพย์จะบวกรวมความคุ้มครองกรณีเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลไปด้วย แต่ในความจริงแล้ว ประกันชีวิต จะได้รับเงินคืนเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิตเท่านั้น ส่วนประกันสะสมทรัพย์ เป็นแบบออมเงิน จะได้รับเงินคืนเมื่อครบกำหนดตามระยะเวลา หากต้องการความคุ้มครองด้านสุขภาพโดยตรง ต้องทำประกันสุขภาพ ซึ่งเมื่ออายุมากขึ้น เบี้ยประกันก็จะสูงขึ้นตามที่กล่าวมา
การทำประกัน เป็นการซื้อหลักประกันว่ากรณีเกิดความเสี่ยงในเรื่องต่าง ๆ ขึ้น จะมีผู้มารับผิดชอบแทนเมื่อต้องใช้เงินจำนวนมากมาเป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบต่าง ๆ เข้ามาพิจารณาก่อนเลือกซื้อ ทั้งประเภทประกันที่สอดคล้องต่อเป้าหมาย ยอดเบี้ยประกันที่สามารถจ่ายได้เป็นประจำ ก่อนพิจารณาตัดสินใจซื้อ จึงควรศึกษาข้อมูลให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อความคุ้มค่าต่อเงินที่เสียไป
อ่านเพิ่มเติม: ไม่ให้แบรนด์เสียชื่อเสียง: สรุป 4 ขั้นตอน ยามเจอวิกฤติช่วยชีวิตอย่างไร