
อนาคตหลังจากที่ไม่ได้ทำงานแล้วจะเป็นอย่างไร หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ที่ไม่ได้จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ วันนี้ นี่ถือเป็นหลุมพลางที่ทำให้เมื่อถึงเวลาเกษียณ รายได้จากช่องทางเดิมเริ่มหดหาย กลายเป็นบ่วงที่ผูกขาตัวเองให้ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ทัน นี่ยังไม่รวมถึงความเสี่ยงอีกมากมายที่จะเกิดขึ้น ในวันที่เงินเข้ากับเงินออกต่างกันแบบฟ้ากับเหว ชีวิตหลังเกษียณจะอยู่รอดได้อย่างไร? เป็นคำถามที่หลาย ๆ คนอาจจะคิดได้เมื่อสายไปแล้ว ทางที่ดีกว่า คือ การมาหาคำตอบ เพื่อนำไปสู่วิธีการในการเตรียมความพร้อมตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะการบริหารจัดการความเสี่ยง ที่จะทำให้ชีวิตยามชรา ไร้ซึ่งความสุขได้ ความเสี่ยงที่จะพบเจอมีอะไร และต้องจัดการแต่ละเรื่องอย่างไร
มาไขข้อสงสัยชีวิตหลังเกษียณไปด้วยกัน
1. ความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ เงินเท่าเดิมซื้อของได้น้อยลง
ไม่ต้องรอให้ถึงอนาคต ทุกวันนี้ทุกคนก็คงเห็นว่า จำนวนเงินที่เราเก็บออมไว้ เมื่อเวลาผ่านไปเพียงไม่เกิน 1 ปี สิ่งที่ต้องการก็ขยับราคาสูงขึ้น จนไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงินจำนวนเท่าเดิม นี่คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะเงินเฟ้อ ทำให้การออม หรือการลงทุนเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะการเลือกเครื่องมือ ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้เหนือค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อ เพื่อให้สามารถมั่นใจได้ว่า เราจะไม่จนลง แม้จะรวยขึ้นไม่มากนัก
2. ความเสี่ยงจากอายุยืน แต่เงินเก็บลดลงเรื่อย ๆ
เพราะไม่มีใครจะล่วงรู้ได้ว่าตัวเองจะเสียชีวิตเมื่อไหร่ การมีอายุยืน ก็มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้เพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้กลับไม่มี ย่อมเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ชีวิตต้องเผชิญกับความยากลำบาก ความปวดหัว ในวันที่ร่างกายอ่อนแอลงเรื่อย ๆ การมีเงินเก็บสำรองไว้ แม้อาจจะไม่สามารถช่วยได้ทั้งหมด แต่ก็ช่วยบรรเทาภาระของตัวเอง รวมไปถึงคนดูแล ที่ต้องเตรียมเงินไว้ เพื่อการจับจ่ายใช้สอยไปกับเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
3. ความเสี่ยงจากค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ รักษาพยาบาล
อนาคตสิ่งที่คาดเดาได้ไม่ยาก ก็คือ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลซึ่งย่อมสูงขึ้นอย่างแน่นอน ตามสภาวะเงินเฟ้อ รวมไปถึงความทันสมัยของเทคโนโลยีที่มีต้นทุนสูงขึ้น โดยความเสี่ยงนี้ อาจจะถือเป็นหนึ่งรายจ่ายหลัก ที่ผู้สูงวัยจำเป็นต้องเผชิญ ในวันที่ร่างกายเสื่อมโทรม มีโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ มารบกวน จากปัญหาการทำงานหนัก และใช้ร่างกายโดยไม่ได้ดูแลในช่วงวัยทำงาน การทำประกันสุขภาพ และเก็บสำรองเงินไว้เป็นค่ารักษาพยาบาลจึงจำเป็นอย่างยิ่ง
4. ความเสี่ยงจากความไร้ความสามารถ ต้องพึ่งพาผู้อื่นดูแล
หากเจ็บป่วยรุนแรง จนถึงขั้นพิการ ทุพลภาพ ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ จำเป็นต้องพึ่งพาผู้อื่น ย่อมกลายเป็นภาระของคนในครอบครัว หรือจำเป็นต้องจ้างผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งแน่นอนว่าจะมีรายจ่ายมหาศาลตามมา หากคนในบ้านไม่พร้อมดูแล ก็จะกลายเป็นภาระที่หน่วยงานรัฐต้องเข้ามาดูแล กลายเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงต่อกัน การหาทางออก ด้วยการเตรียมพร้อม ทั้งในแง่ของการป้องกัน และการวางแผนรับมือจึงสำคัญที่สุด
5. ความเสี่ยงจากการลงทุน
แม้ว่าผู้ที่อยู่ในช่วงวัยทำงาน จะมีการวางแผนการลงทุนเพื่อเป้าหมายมีเงินใช้ในยามเกษียณ แต่ก็จำเป็นต้องเผชิญกับความเสี่ยงในด้านผลตอบแทนอาจจะไม่เป็นไปอย่างที่มุ่งหวัง ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งจากสภาวะตลาด สภาพเศรษฐกิจ การตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเกินไป หรือแม้แต่การขาดความรู้ความเข้าใจ การติดตามและประเมินผลให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนนแปลงในช่วงเวลานั้น ๆ
ความเสี่ยงที่หลากหลายเหล่านี้ อาจจะเป็นสิ่งที่น่ากลัว ซึ่งทุกคนที่เข้าสู่วัยชราต้องพบเจอ แต่หากทราบ และเข้าใจ พร้อมทั้งหาทางรับมือไว้แต่เนิ่น ๆ ปัญหาที่อาจจะรุนแรง ก็จะบรรเทาเบาบางลงได้ โดยสิ่งที่ควรทำก็คือ การวางแผนทางการเงิน การลงทุนเพื่อการเกษียณ การทำแผนบริหารความเสี่ยง รวมไปถึงการดูแลสุขภาพร่างกาย จิตใจ ให้แข็งแรง ปราศจากโรค ซึ่งจะทำให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตในช่วงวัยหลังเกษียณ อยู่รอดได้อย่างมีความสุข ไม่เป็นภาระของลูกหลาน หรือคนใกล้ชิด
อ่านเพิ่มเติม: ระดมทุนสตาร์ทอัพ