
ด้วยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 และการถดถอยของเศรษฐกิจ ปัญหาค่าครองชีพสูง ทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของประชากรไทยเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นหนี้สินที่เกิดจากการกู้ยืมเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายตามเป้าหมายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นจากบัตรเครดิต สินเชื่อเงินสด สินเชื่อบ้าน รถยนต์ หนี้ที่เกิดจากอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ซึ่งสูงกว่าศักยภาพที่จะหารายได้มาชำระได้ ทำให้มีโอกาสกลายเป็นหนี้สูญ ส่งผลกระทบเป็นทอด ๆ ไปทั้งประเทศได้ ดังนั้นรัฐบาลจึงได้มีการออกนโยบายเพื่อช่วยเหลือ ขจัดปัญหาหนี้ครัวเรือนในประชากรกลุ่มต่าง ๆ ที่มีหนี้สินคงค้าง ให้สามารถเข้าถึงโอกาสในการแก้ปัญหา ลดภาระความกังวลใจ
โดย 5 นโยบายรัฐที่จะขจัดหนี้ครัวเรือน สนับสนุนให้เกิดเสถียรภาพทางการเงินของคนไทยมีอะไรบ้างมาติดตามกันเลย
1. ขจัดปัญหาหนี้ค้างจ่ายกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือกยศ.
สำหรับนักเรียน นักศึกษาที่มีฐานะทางบ้านยากจน การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาในระดับสูง ๆ ได้จึงต้องอาศัยเงินทุนสนับสนุน กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ จึงเป็นอีกหนึ่งหนทางที่เข้ามาช่วยเหลือ แต่หลังสำเร็จการศึกษาแล้ว จำเป็นต้องชดใช้หนี้เหล่านี้คืน เพื่อส่งต่อเงินทุนเหล่านี้แก่รุ่นต่อ ๆ ไป แต่พบว่ามีลูกหนี้ส่วนหนึ่งไม่สามารถชำระคืนได้ตามกำหนด ทำให้มีการฟ้องร้อง ต้องทำการยึดทรัพย์ ภาครัฐ จึงมีนโยบายในการปรับปรุงรูปแบบการชำระเงิน ปรับลดดอกเบี้ยผิดชำระ ปรับโครงสร้างหนี้แก่ผู้ที่มีปัญหา
2. หนุนการแก้ไขปัญหาหนี้ในหมู่ข้าราชการ โดยเฉพาะครูและตำรวจ
แม้หลายคนมองว่าอาชีพข้าราชการจะมั่นคง แต่ก็พบว่าข้าราชการส่วนใหญ่มีปัญหาหนี้สินสูง โดยเฉพาะอาชีพครู และตำรวจ ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต รัฐบาลจึงมีเป้าหมายมอบหมายให้ธนาคารออมสิน รวมไปถึงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ เข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหา ในการช่วยเหลือข้าราชการที่มีเงินเดือนต่ำ และสร้างหนี้สินจำนวนมาก จนไม่สามารถชำระได้ ให้มีทางออกในการจัดการปัญหา
3. ส่งเสริมให้เกิดการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระแห่งชาติ
เมื่อผิดนัดชำระหนี้เป็นระยะเวลาที่เกินกำหนด ทางสถาบันการเงินซึ่งอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ จำเป็นต้องดำเนินการฟ้องร้องตามเงื่อนไขการกู้เงิน ซึ่งหากไปถึงกระบวนการในชั้นศาล จะยิ่งทำให้มีปัญหาสร้างค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมแก่ทั้งลูกหนี้ และเจ้าหนี้ การไกล่เกลี่ยเพื่อหาทางออกร่วมกันจึงเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ปัญหาต่าง ๆ นี้จบลงได้ง่ายยิ่งกว่า โดยรัฐส่งเสริมให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกกฏและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้แก่ลูกหนี้ เพื่อลดภาระหนี้ครัวเรือน
4. ดูแลแก้ไขปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์อย่างเป็นระบบ
สินเชื่อเพื่อซื้อยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ เป็นอีกหนี้ที่มียอดผ่อนชำระค่อนข้างสูง และมีระยะเวลาผ่อนชำระค่อนข้างนาน จึงเป็นหนี้ครัวเรือนที่สร้างภาระแก่คนในบ้าน ซึ่งหากไม่สามารถผ่อนชำระได้ก็อาจจะเป็นต้องทำการยึดทรัพย์ ทำให้เสียโอกาสทั้งลูกหนี้ และเจ้าหนี้ รัฐบาลจึงมอบหมายทางธนาคารแห่งประเทศเข้ามาดำเนินการในการกำกับดูแลสินเชื่อและการทำธุรกรรมให้มีความเหมาะสม ต่อสถานะทางการเงินของผู้กู้
5. ส่งเสริมมาตรการในการปรับลด ทบทวนเพดานดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม
อีกหนึ่งมาตรการที่ทางรัฐ พยายามเร่งติดตามให้มีการอย่างเป็นรูปธรรม ก็คือ การส่งเสริมมาตรการในการปรับลด เข้าไปกำกับดูแลการกำหนดอัตราดอกเบี้ย รวมไปถึงออกโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจ และบุคคลที่มีรายได้ต่ำ ให้สามารถเข้าถึงการกู้เงินได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และลดปัญหาหนี้นอกระบบ ที่สร้างผลกระทบต่อชีวิตประชากรไทย
แม้ว่าจะมีภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ บริหารจัดการลดผลกระทบจากปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ต่ำลง แต่สิ่งที่จะส่งเสริมให้มรสุมทางการเงินนี้ผ่านไปได้ด้วยดีก็คือ การรู้จักบริหารการเงินภายในครอบครัวให้มีประสิทธิภาพ ไม่สร้างหนี้สินเกินตัว โดยไม่สร้างให้เกิดรายได้เพิ่มเติม และจัดการหนี้ที่ก่อไว้แล้วอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถชำระให้หมดได้อย่างรวดเร็ว ไม่เป็นภาระแก่คนในครอบครัว
อ่านเพิ่มเติม: หาไอเดียคิดงาน