
การใช้ทักษะ ความสามารถของตัวเอง มาแลกเปลี่ยนเป็นเงิน โดยไม่ได้อยู่ภายใต้สังกัดบริษัท หรือหน่วยงานใด เป็นอาชีพอิสระ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “อาชีพฟรีแลนซ์” ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในหมู่วัยทำงานที่ต้องการบริหารเวลา และความสามารถด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องฟังคำสั่งใคร อาชีพนี้แม้จะมีข้อดีมากมาย แต่ก็มีเรื่องต้องระวัง โดยเฉพาะความไม่สม่ำเสมอของรายได้ ที่อาจจะทำให้บางช่วงมีโอกาสที่เงินจะขาดมือ สำหรับผู้ที่มีอาชีพนี้ ควรมีการบริหารจัดการเงินอย่างไร ที่จะทำให้มีความมั่นคงทางการเงิน
มาเจาะลึกเทคนิคดี ๆ ที่อาชีพฟรีแลนซ์ลองนำไปทำตามกัน
1. วางแผนจัดการงบการเงินส่วนตัวให้มีประสิทธิภาพ
เมื่อมีรายได้ไม่ประจำ แต่กลับมีรายจ่ายอย่างสม่ำเสมอ แล้วจะทำยังไงกันดี มาหาทางออกเรื่องนี้กันดีกว่า วิธีง่ายๆ ที่จะจัดการปัญหานี้ได้ ก็คือ การสำรวจรายจ่ายในแต่ละเดือนว่า หมดไปกับเรื่องอะไรบ้าง โดยการหมั่นจดบันทึกรายจ่ายในหมวดต่าง ๆ เช่น รายจ่ายประจำ จำพวกค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าสมาชิกรายเดือนต่าง ๆ รวมไปถึงค่ากิน และรายจ่ายที่แปรผันไปตามสถานการณ์ เพื่อวางแผนจัดสรรงบรายจ่ายของตัวเองให้เหมาะสม อะไรที่ต้องลด อะไรที่ต้องเพิ่มจะได้จัดการได้ถูกต้อง
2. บริหารเงิน ออมเงินไว้ในยามฉุกเฉิน ป้องกันความเสี่ยง
เพราะอาชีพ ฟรีแลนซ์อาจจะมีบางช่วงที่ไม่มีคนจ้าง ทำให้ขาดรายได้ เพื่อลดผลกระทบจากความเสี่ยงที่จะไม่มีเงินใช้ จึงควรวางแผนจัดสรรเงินสำรองไว้ เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว อาจจะเผื่อไว้ขั้นต่ำ 6 เดือน ซึ่งหากไม่เกิดเหตุฉุกเฉินไม่ควรนำมาใช้ไปกับวัตถุประสงค์อื่น ๆ เพราะหากเกิดสถานการณ์วิกฤติขึ้นมาจริง ๆ จะทำให้ไม่มีเงินใช้ ต้องไปหยิบยืม หรือกู้ เสี่ยงจะทำให้เป็นหนี้ระยะยาว ที่ดอกเบี้ยสูง ขาดสภาพคล่อง จนยากจะแก้ไข
3. วางแผนเก็บเงิน และลงทุนในสไตล์ที่เหมาะสมกับตัวเอง
อีกหนึ่งเรื่องที่ขาดไม่ได้ นอกจากเตรียมเงินไว้สำหรับใช้จ่ายแล้ว ก็ไม่ควรลืมที่จะจัดสรรรายได้ที่หามาสำหรับเป็นเงินออม และนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะสม ที่ตนเองมีความเข้าใจ และสามารถบริหารจัดการให้เกิดดอกผล เงินทุนงอกเงย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้น กองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ หรือการทำธุรกิจต่าง ๆ ที่ตัวเองมีความรู้ และมีความถนัด เพื่อสร้างให้เกิดกระแสเงินสดเข้ามาต่อเนื่อง
4. จัดสรรเงินออม ไปลงทุนตามเป้าหมาย
เพราะในแต่ละช่วงชีวิตมีเป้าหมายที่แตกต่างกันไป ดังนั้น เพื่อให้สามารถพิชิตแต่ละโจทย์ได้สำเร็จ จึงควรแบ่งเงินออกเป็นส่วนๆ ตามวัตถุประสงค์ ระยะเวลา และความสำคัญ จัดลำดับสัดส่วนในแต่ละด้านให้เหมาะสม พอดี เพียงพอ เช่น เป้าหมายเพื่อซื้อบ้าน ซื้อรถ การศึกษาต่อ เป็นทุนการศึกษาให้ลูก เพื่อการเกษียณ
5. วางแผนจ่ายภาษีให้คุ้มค่าที่สุด
แม้ว่าจะไม่ได้ทำงานภายใต้สังกัดบริษัทหรือหน่วยงาน แต่หากมีรายได้ ก็จำเป็นต้องยื่นแสดงรายการเพื่อชำระภาษีตามที่กฏหมายกำหนด โดยควรศึกษาทำความเข้าใจเงื่อนไขการชำระภาษีสำหรับอาชีพ ฟรีแลนซ์ให้ดี เพื่อที่จะสามารถบริหารสัดส่วนเงินที่จำเป็นต้องจ่ายให้มีประสิทธิภาพ โดยใช้สิทธิลดหย่อนต่าง ๆ ที่สามารถใช้ได้
แม้อาชีพ ฟรีแลนซ์จะมีอิสระในการทำงาน แต่ก็แลกมากับความเสี่ยงที่จะมีรายได้ที่ไม่สม่ำเสมอ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถบริหารจัดการสร้างสมดุลการเงินที่มีประสิทธิภาพ ผู้ประกอบการอาชีพนี้จึงต้องมีการวางแผน และปฏิบัติตามอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เป้าหมายทางการเงินเป็นไปดังตั้งใจ หรือหากเกิดความผิดพลาดก็สามารถจัดการแก้ไขได้อย่างทันท่วงที สามารถใช้ชีวิตตามไลฟ์สไตล์ที่ต้องการได้แบบไม่ต้องกังวลว่าเงินจะขาดมือ
อ่านเพิ่มเติม: สรุปมาให้ 5 วิธีจัดการปัญหา เมื่อลูกค้าไม่พอใจ ทำอย่างไรจะจบสวย