
เมื่อต้องการเงินเพื่อนำไปซื้อสินค้า บริการต่างๆ ที่มียอดเงินค่อนข้างสูงเกินกว่าเงินที่ตนเองมี วิธีที่คนส่วนใหญ่มักเลือกใช้ก็คือ การกู้ยืมเงินจากแหล่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด รวมไปถึงเจ้าหนี้นอกระบบ ผลพวงที่ตามมาก็คือ ต้องจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นรายเดือน เมื่อนานวันเข้า เงินต้นกับดอกก็ยิ่งทบกันไปเรื่อย ๆ จนไปสูงสุดในระดับที่ไม่สามารถนำเงินมาชำระได้ กลายเป็นหนี้ท่วมหัว
สัญญาณอะไรเป็นสิ่งเตือนใจให้เหล่าผู้ที่เป็นหนี้ท่วมหัว ตระหนักและรีบปรับตัว ก่อนที่จะหมดเนื้อหมดตัวกันบ้าง
1. เริ่มผ่อนชำระหนี้ขั้นต่ำ
เมื่อรายจ่ายในแต่ละเดือนเพิ่มขึ้น สวนทางกับรายได้ที่แทบไม่ขยับ หรือขยับน้อยนิด จนแทบไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง จึงเป็นที่มาให้บรรดาลูกหนี้หลายคนเลือกใช้วิธีชำระหนี้ ด้วยยอดต่ำสุดที่สามารถจะทำได้ ซึ่งต้องบอกเลยว่า วิธีนี้ดูเผิน ๆ เหมือนจะเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย แต่การกระทำในรูปแบบนี้ยิ่งเป็นการซ้ำเติมภาวะดอกเบี้ยที่จะต้องแบกรับไม่น้อยกว่า 20 เปอร์เซนต์ต่อปี รวมถึงค่าบริการต่าง ๆ ที่มีเพิ่มเติมตามมา เช่น ค่าถวงถาม ดอกเบี้ยจากการชำระช้า ยิ่งทบไปทบมา ดอกเบี้ยอาจจะมากกว่าเงินต้นที่ยืมมาด้วยซ้ำ ทางที่ดีควรวางแผนการใช้จ่าย และกันเงินในแต่ละเดือนไว้ให้เพียงพอต่อการชำระหนี้ทั้งยอดในแต่ละเดือนจะดีที่สุด
2. สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ทะลุ 40 เปอร์เซนต์
การใช้จ่ายตามความพึงพอใจ นึกอยากได้อะไรก็ซื้อ มีเงินไม่พอก็ใช้วิธีกู้หรือผ่อน ซึ่งแน่นอนว่าหากขาดวินัยในการชำระหนี้ที่ตรงเวลา และไม่เป็นไปตามยอดที่ระบุ ย่อมเจอกับหายนะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องแบกรับหนี้สินยอดรวมเกินกว่า 40 เปอร์เซนต์ของรายได้ทั้งหมดที่หาได้ เท่ากับว่าเงินเกือบครึ่งนึงที่คุณหาได้ ต้องนำมาจ่ายให้กับเจ้าหนี้ที่นั่งรอคุณอยู่ทุกเดือน วิธีแก้ที่ดีที่สุด หากมาถึงจุดนี้ คือ หยุดสร้างหนี้เพิ่ม และหันมาพยายามหารายได้เพิ่ม เพื่อมาปลดหนี้ที่เหลือให้หมดเร็วๆ แทน
3. ต้องพึ่งวิธีกู้เงินมาปลอดหนี้ที่เหลือ
เมื่อมีหนี้เพิ่ม รายรับเท่าเดิม หนึ่งในวิธีที่หลายคนเลือกใช้ก็คือ การไปกู้หนี้ใหม่ เพื่อมาชำระหนี้เก่า ก่อดอกเบี้ยไปเป็นทอด ๆ เป็นวังวงหนี้สินที่เป็นวัฏจักรแบบงูกินหาง แบบไม่มีทางจบสิ้น ยิ่งกู้ก็ยิ่งทำให้หนี้สินพอกพูน หนี้เก่ายังใช้ไม่หมด หนี้ใหม่ก็รอกำหนดส่ง โดยเฉพาะการไปกู้หนี้นอกระบบมา ถือเป็นการฆ่าตัวตายทางอ้อม กับดอกเบี้ยที่สูงกว่าสถาบันการเงินทั่วไปหลายเท่าตัว หากไม่สามารถหารายได้ด้วยวิธีอื่นแทนการกู้มาจ่ายได้ทัน แน่นอนว่าต้องพบกับสภาวะล้มลาย เสียเครดิต และต้องจมอยู่กับภาวะมีหนี้ติดตัวไปอีกไม่ต่ำกว่า 5 – 7 ปี
วิธีที่จะป้องกันได้ดีที่สุดตั้งแต่ต้นทาง คือ การคำนึงอยู่เสมอทุกครั้งไม่ว่าจะซื้อสินค้า หรือบริการอะไร ว่าจะสามารถหาเงินมาชำระหนี้ก้อนนี้ได้ทุกเดือนหรือไม่ และสิ่งที่ซื้อมานั้นจะสร้างประโยชน์ให้มากน้อยขนาดไหน ซื้อมาแล้วจะสามารถสร้างเงินเพิ่มให้แก่เราได้หรือไม่ หากสามารถทำได้ หนี้ประเภทนี้คือหนี้รวยที่ต่างกับหนี้จน ที่สร้างแล้วมีแต่จะนำหายนะมาสู่ตัวเอง ซึ่งต้องหลีกเลี่ยงให้ห่างไกล
อ่านเพิ่มเติม: รวม 5 แนวทาง สร้างธุรกิจของตัวเอง คู่งานประจำ ที่มนุษย์เงินเดือนนำไปใช้ได้จริง