เช็คก่อนรวย 6 สภาวะการเงินพื้นฐาน เพื่อการมีสุขภาพการเงินที่ดี

by kanlongthun
สภาวะการเงิน

การมีชีวิตที่ออกแบบได้เอง โดยไม่มีอุปสรรคด้านการเงินมากั้นขวาง หรือที่หลายคนเรียกกันว่า “อิสรภาพทางการเงิน” ชีวิตที่มีกิน มีใช้ มีเหลือเก็บ เป็นความฝันที่คนส่วนใหญ่อยากไปให้ถึง แต่การก้าวไปถึงจุดนั้นได้ แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ต้องบอกว่า หากวางแผน และลงมือทำอย่างจริงจัง ก็สามารถเป็นจริงได้ โดยตั้งต้นมาจากพื้นฐานการมีสภาวะการเงิน สุขภาพการเงินที่ดี  ซึ่งหมายถึงการมีชีวิตที่หมดความกังวลเรื่องการเงินที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน

โดยมาจาก 6 สภาวะการเงินพื้นฐานที่นำมาแนะนำให้ทุกคนตรวจเช็คกันนี้ 

1. สภาพคล่องทางการเงินที่ดี

การมีเงินใช้จ่ายอย่างเพียงพอตามรูปแบบชีวิตที่ต้องการ มีกิน มีใช้ มีเก็บอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง สภาพคล่องทางการเงินที่ดี ถือเป็นเรื่องจำเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่อิสรภาพทางการเงินได้ โดยหากมีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย แน่นอนว่าปัญหาอีกจิปะถะย่อมตามมา ไม่ว่าจะเป็นการนำเงินในอนาคตมาใช้ ผ่านบัตรเครดิต สินเชื่อเงินสด รวมไปถึงการกู้ยืม สร้างหนี้นอกระบบ ที่จะทำให้เกิดเป็นวงจรหนี้สิน ที่พัวพันเป็นเงื่อนปมที่ยากจะแก้ไขให้คลี่คลาย

2. ปลอดหนี้จน

“การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ” เป็นคำพูดกันเล่นๆ ที่เป็นจริง เพราะหนี้มาพร้อมกับความเครียด และความกังวล โดยเฉพาะหนี้จน หรือหนี้ที่เกิดจากการบริโภค ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้กลับคืนมา ไม่ว่าจะเป็นหนี้กู้ซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยเอง หนี้ซื้อรถยนต์ หนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด รวมทั้งหนี้นอกระบบต่าง ๆ ที่คิดดอกเบี้ยเป็นรายวัน ซึ่งหากใครที่ผูกติดหนี้กลุ่มนี้ไว้กับตัว ย่อมหาความสุขได้ยาก 

3. พร้อมชนความเสี่ยง

ชีวิตแต่ละคนมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับภาระทางการเงินที่แต่ละคนแบกรับไว้ รวมไปถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากขาดรายได้ หรือผู้ที่หารายได้เสียชีวิตไป การรู้จักและเข้าใจความเสี่ยงที่แต่ละคนมี รวมทั้งหาวิธีจัดการป้องกันอย่างเหมาะสม ไว้ว่าจะเป็นการเก็บเงินสำรองไว้กรณีฉุกเฉิน การซื้อประกันรูปแบบต่าง ๆ การบริหารความเสี่ยงเหล่านี้ได้ดีจะเป็นสิ่งที่ช่วยคลายความกังวลได้ หากเกิดเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้น 

4. มีเสบียงเงินสำรอง

ความเสี่ยงที่ไม่คาดคิด สามารถป้องกันได้จากการเก็บสำรองเงินฉุกเฉินไว้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีเกิดการตกงาน ต้องลาออกจากงาน ถูกเบี้ยวค่าจ้าง ประสบอุบัติเหตุ ไม่สามารถทำงานได้ ฯลฯ โดยเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเหตุปัจจัยเหล่านี้ เราควรมีเงินเก็บสำรองไว้เพื่อนำมาใช้จ่ายทดแทนอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 6 เดือนของยอดค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้เป็นประจำ 

5. สอดคล้องเกณฑ์ภาษี

สำหรับผู้ที่มีรายได้ในระดับที่เข้าเกณฑ์ต้องจ่ายภาษี ต้องมีการยื่นแสดงรายได้ และชำระภาษีให้ถูกต้องตามกฏหมาย โดยยอดเงินจ่ายภาษีถือเป็นอีกค่าใช้จ่ายรายปีที่สูงกว่าค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ผู้มีรายได้จำนวนมาก จึงต้องมีการประเมินและวางแผนภาษีอย่างเหมาะสม โดยควรบริหารสิทธิประโยชน์การลดหย่อนประเภทต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับที่ภาครัฐกำหนด เพื่อรักษาความมั่งคั่ง และทำหน้าที่ของคนไทยอย่างถูกต้อง

6. บั้นปลายมีทุนเกษียณ

เรื่องเกษียณ หลายคนมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ยิ่งอายุยังน้อย แต่การวางแผนล่วงหน้า เตรียมตัวได้ดี และลงมือได้เร็ว จะช่วยทำให้ทุ่นแรงได้ดีกว่าการมาลงทุนในตอนใกล้เกษียณแล้ว การวางเป้าหมายการใช้เงิน และวิถีชีวิตที่ต้องการตั้งแต่ยังหนุ่มสาว จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ ยิ่งทำได้เร็ว ก็จะยิ่งสามารถสร้างความสำเร็จ หรือหากผิดพลาด ก็ยังมีเวลาในการปรับเปลี่ยนแก้ไข เพื่อให้ยังสามารถไปถึงเป้าหมายได้ 

ลองตรวจเช็คดูให้ดีว่า สุขภาพการเงินคุณเป็นอย่างไร ยังคงแข็งแรง หรือว่าอ่อนแอ ใกล้ถึงจุดโคม่าเข้าไปทุกที การประเมินสภาวะทางการเงินของตนเองเป็นประจำ จะทำให้สามารถวางแผน กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที และมีโอกาสที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้สูงกว่าการใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้มีแผนการรองรับ

อ่านเพิ่มเติม: 5 ข้อคิด การเงินสำหรับคนรุ่นใหม่ เริ่มต้นอย่างไรมีเงินใช้ระยะยาว

เรื่องที่คล้ายกัน

Leave a Comment