สรุปมาให้ 4 ช่วงวัย วางแผนการเงินแบบไหน ให้มีเงินใช้ไม่ขาดมือ

by kanlongthun
วางแผนการเงิน

ตลอดช่วงชีวิตของคนเรา มีความจำเป็นต้องใช้เงินที่แตกต่างกันออกไป บางช่วงต้องพึ่งพาคนอื่น บางช่วงสามารถดูแลตัวเองได้ และเป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุนแก่บุคคลอื่น ๆ ในครอบครัวได้ ทั้งนี้การวางแผนการเงิน และลงมือทำในแต่ละช่วงเวลาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ตลอดอายุขัยมีเงินใช้แบบไม่ขาดมือ ซึ่งปัจจุบันแม้ว่าจะมีบุคคลทั่วไปให้ความสนใจศึกษาข้อมูล เรียนรู้ และทำความเข้าใจในเรื่องการเงินส่วนบุคคลนี้มากขึ้น แต่ก็นับว่ายังเป็นเพียงส่วนน้อย โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมตั้งแต่วัยเด็ก ไปจนถึงวัยชรา ที่จะทำให้การเงิน ทั้งในด้านการหารายได้ การวางแผนจัดการรายจ่าย รวมไปถึงการออม และการลงทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

มาทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันว่าในแต่ละช่วงวัย ต้องมีการวางแผนการเงินอย่างไร  

1. ช่วงวัยเด็ก 

หากมีลูก หรือหลานที่อยู่ในวัยเด็ก แม้ว่าเขาจะยังไม่สามารถหารายได้ด้วยตัวเองได้ แต่สิ่งที่เขาสามารถทำได้ ก็คือการเรียนรู้คุณค่าของเงิน ผ่านพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย หรือผู้ปกครอง ที่จะสามารถฝึกฝน และสร้างความเข้าใจแก่เขาได้ว่าเงินที่นำมาจับจ่ายซื้อของต่าง ๆ หามาด้วยความยากลำบาก ซึ่งอาจจะทดลองให้เขาได้ทำงานต่าง ๆ ภายในบ้าน หรือช่วยงานพ่อแม่บางอย่างที่พอจะสามารถทำได้ เพื่อแลกกับเงินค่าขนม ทำให้ลูกหลานได้เรียนรู้ และเข้าใจว่าการหาเงินต้องทำอย่างไร และนำเงินไปใช้อย่างไรให้เป็นประโยชน์ 

2. ช่วงวัยเรียน

สำหรับเยาวชนที่อยู่ในวัยกำลังศึกษาเล่าเรียน ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากขึ้น สำหรับการใช้จ่ายทั้งในด้านการศึกษา และการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งรายรับก็ยังคงเป็นการพึ่งพาพ่อแม่ในการสนับสนุนเงิน โดยนอกจากนั้นก็ยังสามารถหาแนวทางสร้างรายได้เสริมให้แก่ตัวเอง ซึ่งในยุคดิจิตอลมีงานต่าง ๆ ที่ถูกกฏหมาย ไม่ผิดศีลธรรมให้เลือกทำมากมาย แม้ว่าบางงานอาจจะรายได้ไม่สูง แต่ก็ถือเป็นการฝึกประสบการณ์เพิ่มพูนทักษะไปด้วยในตัว นอกจากนั้นควรวางแผนเก็บเงินที่เหลือจากค่าขนม หรือรายได้เสริม เอาไว้เป็นทุนการศึกษา หรือซื้อสิ่งของด้วยงบประมาณของตัวเอง 

3. ช่วงวัยทำงาน

หลังจากสำเร็จการศึกษา มีงานทำเป็นที่เรียบร้อย ก็จะมีรายรับที่หามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง ช่วงนี้ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ควรมีการวางแผน การเงินอย่างเป็นจริงเป็นจัง มีการตั้งเป้าหมาย ทั้งในด้านการเก็บออมเงิน ก่อนที่จะนำไปจัดสรรเป็นรายจ่ายรายเดือนให้เพียงพอ รวมไปถึงการเรียนรู้แนวทางการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสม เพื่อสร้างเงินให้ทำงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินในประเภทต่าง ๆ ได้อย่างรวมเร็ว และเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม 

4. ช่วงมีครอบครัว

หลังจากแต่งงานมีครอบครัว ภาระทางการเงินก็ยิ่งทวีคูณมากขึ้น แม้ว่าระดับฐานเงินเดือนจะขยับตัวสูงขึ้นไม่แพ้กัน ก็จะต้องมีการวางแผนพูดคุยถึงแนวทางการใช้จ่ายภายในครอบครัว เพื่อให้แต่ละคนรับทราบข้อมูลที่ตรงกัน ช่วยเหลือในการประหยัดรายจ่ายต่าง ๆ รวมทั้งสร้างรายได้เพิ่มเติม เพื่อไว้สำหรับอนาคตวันข้างหน้า ทั้งการซื้อบ้าน ซื้อรถ รวมไปถึงการเก็บเงินไว้เป็นทุนการศึกษาแก่ลูก รวมถึงการดูแลพ่อแม่ที่แก่ชรา รวมทั้งวางแผนการเงินสำหรับการเกษียณของตัวเอง 

5. ช่วงวัยชรา

หลังจากที่ล่วงเลยเข้าสู่วัยที่ต้องปลดเกษียณจากการทำงาน กลับมาใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการ ซึ่งหากได้มีการวางแผนเก็บเงิน และลงทุนมาในช่วงวัยทำงาน และตอนมีครอบครัว ก็จะมีเงินทุนที่มากเพียงพอต่อการทยอยนำมาใช้ในช่วงวัยชราที่ขาดรายได้ แถมยังมีสุขภาพที่ไม่ค่อยแข็งแรง โดยหากยังมีความพร้อมที่ยังสามารถทำงานได้ การหารายได้เพิ่มเติม และลงทุนในสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงต่ำ ก็จะทำให้มีเงินใช้สอย สร้างสภาพคล่องทางการเงินได้อย่างต่อเนื่อง 

แต่ละช่วงอายุล้วนจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อม และวางแผนด้านการเงินที่แตกต่างกันไป แม้ว่าบางอย่างจะเป็นการฝืนความเคยชิน ก็จำเป็นต้องทำ เพื่อให้สามารถมั่นใจได้ว่าในวันข้างหน้าตัวเองและครอบครัว จะมีชีวิตที่สุขสบาย ไร้ความกังวลในด้านปัญหาการเงิน มีความมั่งคั่ง และอิสรภาพ ที่จะสามารถดำเนินชีวิตในรูปแบบที่ตัวเองต้องการได้

อ่านเพิ่มเติม: บ้านพักคนชรา

เรื่องที่คล้ายกัน

Leave a Comment