5 ขั้นตอนควรรู้ รีไฟแนนซ์บ้านอย่างไร ให้คุ้มค่า เสริมสภาพคล่องในอนาคต

by kanlongthun
รีไฟแนนซ์บ้าน

การซื้อบ้าน ซึ่งมีระยะเวลาการผ่อนยาวนานถึง 30 ปี เป็นการผูกหนี้ระยะยาว ซึ่งเมื่อระยะเวลาผ่านไป อาจจะเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้ผู้กู้ขาดสภาพคล่อง หมุนเงินมาจ่ายค่างวดรายเดือนไม่ทัน ทำให้กระทบถึงค่าใช้จ่ายในครอบครัว และหากขาดการชำระหนี้ ก็จะทำให้หนี้สิน และดอกเบี้ยพอกพูนเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ สุดท้ายอาจจะต้องโดนยึด และขายทอดตลาดทรัพย์สินไปในที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย โดยหนึ่งในทางออกที่พอช่วยได้ ก็คือ การหาแหล่งเงินกู้ใหม่ ที่ให้ดอกเบี้ยต่ำกว่า หรือที่เรียกว่า “การรีไฟแนนซ์บ้าน” ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่แปลกอะไร เพราะมีคนจำนวนมากที่ทำกัน

ซึ่งจะมีขั้นตอนการรีไฟแนนซ์บ้านที่ต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง มาเรียนรู้กันได้เลย 

1. ศึกษาข้อมูลโปรแกรมการรีไฟแนนซ์ของแต่ละธนาคาร เพื่อคัดสรรที่ดอกเบี้ยต่ำ

สิ่งที่แรกที่ต้องรีบดำเนินการก็คือ การหาข้อมูลสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่มีโปรแกรมเปิดให้สามารถนำบ้านมารีไฟแนนซ์ได้ โดยพิจารณาเงื่อนไข และดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าธนาคารเดิมเป็นสำคัญ โดยควรศึกษาจดบันทึกเงื่อนไขในการปล่อยกู้ของแต่ละธนาคารอย่างละเอียด เพื่อนำมาใช้ในการเปรียบเทียบหาตัวเลือกที่ดี และเหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด โดยคำนึงถึงเป้าหมายในการลดรายจ่ายรายเดือน และที่สำคัญควรมองไปถึงอนาคตระยะยาวด้วย 

2. นำข้อมูลดอกเบี้ย มาลองประเมินตัวเลขยอดผ่อนแต่ละเดือน ว่าลดไปเท่าไหร่

เมื่อศึกษาข้อมูล และเปรียบเทียบจนได้ธนาคารที่ตอบโจทย์ต่อเป้าหมายของตัวเอง โดยให้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะหาได้ หลังจากนั้นก็นำอัตราดอกเบี้ยใหม่ มาคำนวณหาอัตราเงินผ่อนรายเดือนใหม่ พร้อมทั้งหักลบหาส่วนต่างกับอัตราเงินผ่อนบ้านรายเดือนจากธนาคารเดิม ว่ามีค่าใช้จ่ายลดลงไปมากน้อยขนาดไหน เพียงพอไหม ที่จะสามารถหาเงินมาชำระหนี้นี้ได้อย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง เพราะหากยังสูงไป ก็ถือว่ายังไม่คุ้มค่าและไม่ใช่ตัวเลือกที่ดี 

3. ตัดสินใจเลือกธนาคารที่ให้ข้อเสนอที่ดีที่สุด แล้วดำเนินการการทำเอกสารรีไฟแนนซ์

เมื่อคิดว่าธนาคารใหม่ที่ตัดสินใจเลือกให้อัตราดอกเบี้ยที่คุ้มค่า ทำให้อัตราเงินผ่อนบ้านรายเดือนลดลงอยู่ในระดับที่สามารถผ่อนได้ ก็ดำเนินการรวบรวมข้อมูลเอกสารจดจำนองบ้าน และยอดหนี้ที่ผ่อนจ่ายไปแล้ว เพื่อนำไปติดต่อกับธนาคารใหม่ สำหรับการดำเนินการจัดทำเอกสารพิจารณาอนุมัติการรีไฟแนนซ์ บ้าน หลังจากนั้นก็รอทางธนาคารพิจารณา ก่อนที่จะย้ายหนี้ทั้งหมดมาอยู่กับธนาคารใหม่ 

4. เมื่อผ่านการอนุมัติ ดำเนินการนัดหมายธนาคารเดิม และธนาคารใหม่ เพื่อทำธุรกรรม

หลังจากที่ธนาคารที่ไปติดต่อรีไฟแนนซ์ใหม่แจ้งผลว่าผ่านการอนุมัติแล้ว ผู้กู้จำเป็นต้องประสานงานกับธนาคารที่ทำเรื่องจดจำนองบ้านเดิมไว้ เพื่อนัดวันไปดำเนินการไถ่ถอนโฉนด เพื่อให้ธนาคารใหม่ช่วยปิดหนี้ พร้อมทั้งแจ้งวันนัดหมายกับธนาคารใหม่ สำหรับไปดำเนินการทำธุรกรรมที่สำนักงานที่ดินในเขตพื้นที่ซึ่งบ้านตั้งอยู่พร้อม ๆ กับธนาคารเดิม 

5. ทำธุรกรรมจดจำนองกับธนาคารใหม่ 

ขั้นตอนสำคัญในการดำเนินการก็คือ การจัดทำเอกสารจดจำนองบ้าน พร้อมทั้งการชำระเงินค่าธรรมเนียมในการดำเนินการกับสำนักงานที่ดิน และธนาคารใหม่จะสั่งจ่ายเช็คยอดเงินคงค้างที่เหลือให้กับธนาคารเดิม พร้อมกับหากมีเงินส่วนต่างเนื่องจากวงเงินอนุมัติสูงกว่าเงินกู้เดิม ธนาคารใหม่จะออกเช็คในยอดวงเงินที่เหลือให้กับผู้กู้อีกใบ พร้อมกับมอบโฉนดจำจำนองให้กับธนาคารใหม่ หลังจากนั้นก็ดำเนินการผ่อนจ่ายค่าผ่อนบ้านรายเดือนตามปกติ ซึ่งก็จะมียอดที่ต่ำลงกว่าเดิม 

การรีไฟแนนซ์ บ้าน นับเป็นทางออกของผู้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ที่ไม่สามารถแบกรับภาระหนี้สินค่าบ้านที่ดอกเบี้ย และเงินผ่อนรายเดือนสูงกว่าศักยภาพที่จ่ายได้ โดยทางที่ดี การพิจารณาตัดสินใจดำเนินการ ควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน และพิจารณาอ่านเงื่อนไขต่าง ๆ อย่างรอบคอบ หากไม่เข้าใจตรงจุดไหนควรสอบถามธนาคารผู้ปล่อยกู้จนแน่ใจ ก่อนที่จะดำเนินการ เพื่อป้องกันเหตุจากความผิดพลาด หรือความไม่รู้ ที่จะส่งผลให้เกิดความเสียหายในภายหลัง

อ่านเพิ่มเติม: ประกันภัยสำหรับผู้กู้ซื้อบ้าน

เรื่องที่คล้ายกัน

Leave a Comment