แนะ 5 วิธีบริหารการเงินเพื่อนักธุรกิจ พิชิตรายรับ รายจ่าย สร้างกำไรฉบับใช้ได้จริง

by kanlongthun
รายรับ รายจ่าย

การบริหารการเงินไม่ว่าจะเป็นส่วนบุคคล หรือธุรกิจ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะสำหรับเจ้าของกิจการ ผู้บริหารองค์กรธุรกิจแล้ว ความรู้ด้านการบริหารการเงินอย่างเป็นระบบ ถือเป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ทั้งในด้านการบริหารรายรับ รายจ่าย รวมไปถึงการต่อยอดผลกำไรให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น

วิธีการบริหารการเงิน รายรับ รายจ่าย สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมฝึกฝนได้ มีขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้  

1. ทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย ซื่อสัตย์ มีวินัยไม่ฟุ่มเฟือย

การทำความเข้าใจที่มาของรายรับ และรายจ่าย เป็นสิ่งพื้นฐานการบริหารการเงินที่ทุกธุรกิจไม่ว่าจะขนาดเล็ก ในลักษณะธุรกิจส่วนตัว หรือองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นการบริหารรายรับ ให้เพียงพอต่อรายจ่าย และยังมีกำไรส่วนต่าง สำหรับนำไปต่อยอดลงทุนขยายกิจการ รวมไปถึงปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น นอกจากนั้นยังสามารถตรวจสอบได้ว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่สูงเกินไป ซึ่งจะทำให้กระทบต่อธุรกิจเป็นภาระต้นทุนของกิจการที่ต้องดูแล โดยต้องมีการตรวจเช็คอย่างสม่ำเสมอ มีวินัย ไม่ใช้จ่ายเกินตัว

2. แยกค่าใช้จ่ายส่วนตัว กับธุรกิจอย่างชัดเจน

สำหรับผู้ที่ทำกิจการส่วนตัว หรือภายในครอบครัว  บ่อยครั้งที่มักจะเผลอเรอนำเงินในธุรกิจ ไปปะปนกับค่าใช้จ่ายส่วนตัว ทำให้ไม่สามารถค้นหาเส้นทางการเงินที่หายไปได้ จนกระทบกระเทือนต่อสถานะทางการเงินของธุรกิจ วิธีป้องกันที่ดีก็คือการแยกค่าใช้จ่ายส่วนตัว หรือของครอบครัวออกจากธุรกิจอย่างชัดเจน โดยอาจจะแบ่งสัดส่วนเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนที่แน่นอนให้กับแต่ละคน เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ และไม่สับสน จนทำให้ระบบการเงินธุรกิจสั่นคลอน

3. เตรียมสำรองเงินไว้เสมอ เผื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน

ในการทำธุรกิจย่อมมีเหตุการณ์ หรือวิกฤติต่างๆ เข้ามาให้พิสูจน์ใจอยู่เสมอ  การบริหารการเงิน และบริหารความเสี่ยงที่ดี ก็คือการเตรียมสำรองเงินไว้ให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายต่างๆ ในธุรกิจอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป โดยควรเป็นเงินเย็นที่ไม่ควรนำไปใช้ต่อเป้าหมายอื่นๆ ต้องสำรองไว้เพื่อธุรกิจเท่านั้น และควรอยู่ในรูปของเงินฝากในบัญชีซึ่งสามารถเบิกถอนได้ตลอดเมื่อจำเป็นฉุกเฉิน 

4. สร้างระบบเงินหมุนเวียนให้ธุรกิจไม่ติดขัด

กระแสเงินสดหมุนเวียนในธุรกิจ เปรียบเสมือนลมหายใจที่ขาดไปอาจจะทำให้ธุรกิจช็อค หรือถึงขั้นล่มสลายได้ โดยธุรกิจควรวางแผนการขาย การชำระหนี้อย่างเป็นระบบ ไม่ให้เครดิตแก่ลูกค้ามากจนเกินไป  โดยคำนึงถึงผู้ที่สามารถชำระหนี้ได้เป็นสำคัญ เพื่อไม่ให้กระทบเป็นภาระแก่ธุรกิจที่ต้องหาเงินสดมาหมุนเวียนให้เพียงพอต่อรายจ่าย และต้นทุนในการผลิต เพื่อให้ธุรกิจขับเคลื่อนต่อไปได้

5. สร้างผลตอบแทนให้งอกเงยผ่านการลงทุน

ความยั่งยืนของธุรกิจจะเกิดขึ้นได้ เมื่อสถานะทางการเงินมีเสถียรภาพ มีรายรับที่มากกว่ารายจ่าย มีกำไรมากพอที่จะนำมาต่อยอดให้เกิดผลตอบแทนที่งอกเงย อาจจะผ่านการลงทุนในธุรกิจเพิ่มเติม หรือการนำไปขยายการลงทุนในสินทรัพย์รูปแบบอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่มากกว่า เพื่อกระจายความเสี่ยง และแสวงหาโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น 

วิธีการต่างๆเหล่านี้ จะไม่เกิดผลอย่างแน่นอน หากเจ้าของกิจการหรือนักธุรกิจไม่นำไปประยุกต์ใช้ หรือขาดความสม่ำเสมอในการตรวจสอบ ติดตาม บริหารการเงินทางธุรกิจให้เป็นวินัย เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน และนำมาใช้จนเป็นระบบต่อเนื่อง เป็นเสมือนไบเบิลทางธุรกิจ ที่จะนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จที่มั่นคง และยั่งยืน

อ่านเพิ่มเติม: คนขายของออนไลน์ ต้องรู้ 3 ปัจจัย ที่ใช้คิดต้นทุนค่าขนส่ง

เรื่องที่คล้ายกัน

Leave a Comment