
ในยุคที่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาจบใหม่ มนุษย์เงินเดือน ต่างหันหน้ามองหน้าโอกาสในการทำธุรกิจส่วนตัว เพื่อสร้างความมั่งคั่งทางการเงิน ร่ำรวยตั้งแต่อายุยังไม่เยอะ นอกจากการพัฒนาธุรกิจที่ต้องโฟกัสอย่างใกล้ชิดแล้ว สิ่งที่ไม่อาจจะละเลยได้ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกฏหมายก็คือ การจ่ายภาษีในประเภทที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ SMEs ที่อาจจะดำเนินการทางธุรกิจด้วยตัวคนเดียว หรือมีหุ้นส่วนเพียงไม่กี่คน อาจจะยังไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และมองข้ามในรายละเอียดเหล่านี้ไป จนอาจจะสร้างปัญหาต่าง ๆ ขึ้นได้ หากไม่มีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ
มาติดตามกันดีกว่าว่า 5 ขั้นตอน บริหารจัดการภาษีสำหรับธุรกิจ SMEs แบบมือโปร ต้องมีการดำเนินการอย่างไร
1. เรียนรู้ ทำความเข้าใจ ภาษีอะไรบ้างที่ SMEs ต้องจ่าย
เรื่องภาษีอาจจะดูห่างเหินสำหรับมือใหม่ในการเริ่มต้นทำธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กอย่าง SMEs ซึ่งมีภาษีสำหรับธุรกิจที่ต้องจ่ายมาจาก 2 ส่วนใหญ่ ๆ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม สำหรับในทางตรงนั้น เป็นภาษีที่รัฐจัดเก็บจากการประเมินรายได้และทรัพย์สินทั้งของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งจะมีภาษีเงินได้ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ รวมไปถึงภาษีป้าย ส่วนภาษีทางอ้อม จะอยู่ในรูปภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ ซึ่งจะมีการผลักภาระทั้งหมดหรือบางส่วนไปยังผู้บริโภค หรือผู้ซื้อ
2. มองหาโอกาสและสิทธิที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีที่ SMEs จะได้รับการยกเว้น
แม้ว่าภาครัฐจะมีจัดเก็บภาษีเพื่อนำรายได้เข้าคลัง แต่ก็ยังมีมาตรการในการส่งเสริมให้ธุรกิจ SMEs สามารถอยู่รอดได้ ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อบรรเทางบประมาณรายจ่ายต่าง ๆ ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs ควรเรียนรู้และทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ โดยจะได้รับสิทธิต่าง ๆ ทั้งการงดเว้น และลดภาษีเงินได้ สิทธิในการหักค่าเสื่อมของสินทรัพย์ถาวร สิทธิในการหักรายจ่ายค่าฝึกอบรม และสิทธิในการหักรายจ่ายในการลงทุนเครื่องจักร
3. บริหารการเงินและบัญชีอย่างมีประสิทธิภาพ
ในการจัดการด้านภาษีนั้น เอกสารหลักฐานต่าง ๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ โดยควรมีแฟ้มเอกสารจัดเก็บ รวมถึงการสำรองไว้ในรูปแบบไฟล์ดิจิตอล ซึ่งประกอบด้วยใบสั่งซื้อ ใบเสนอราคา ใบแจ้งหนี้ ใบกำกับภาษี ใบเสร็จ โดยมีการจัดเรียงตามลำดับเลขที่ มีทะเบียนควบคุมทรัพย์สิน การจัดทำสต็อคสินค้า รวมไปถึงการตัดยอดปิดบัญชี และบันทึกรายการข้อมูลทางบัญชีอย่างถูกต้องครบถ้วนทุกเดือน
4. หากไม่มีความรู้ ควรมีที่ปรึกษาและจ้างบริษัทผู้ตรวจบัญชีมาดูแล
สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่มั่นใจว่าการดำเนินการของตัวเองมีความถูกต้องตามหลักภาษีของกรมสรรพากรหรือไม่ เพื่อความแน่ใจควรมีการไปขอคำปรึกษาจากผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านบัญชีโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นนักบัญชี ผู้ตรวจสอบบัญชี ซึ่งจะสามารถให้คำแนะนำ พร้อมทั้งให้คำปรึกษาทั้งในด้านการจัดเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้อง ช่องทางในการลดหย่อนภาษี เพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่สามารถดำเนินการได้
5. แยกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อย่างเป็นหมวดหมู่ ไม่นำค่าใช้จ่ายส่วนตัวมาปนกับธุรกิจ
อีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้เกิดความผิดพลาดในการเก็บข้อมูลทางบัญชีของธุรกิจ SMEs ได้ ก็คือ การไม่มีการแยกแยะค่าใช้จ่ายส่วนตัวของผู้เป็นเจ้าของธุรกิจ ออกจากงบประมาณรายจ่ายต่าง ๆ ของบริษัท หรือหน่วยงาน ทำให้เมื่อมีการกรอกข้อมูลในบัญชี เกิดความสับสน ไม่เป็นไปตามหลักการ ทำให้ต้องมีตรวจสอบ สร้างความวุ่นวาย สิ่งที่เหมาะสม คือการแยกแยะหมวดหมู่ตั้งแต่ต้น และไม่นำเงินในส่วนของธุรกิจไปใช้ปะปนกับเรื่องส่วนตัว
การวางแผน และทราบขั้นตอนการเตรียมการเพื่อบริหารจัดการการเงินและบัญชี สำหรับการทำธุรกิจ SMEs ตั้งแต่ต้น จะช่วยป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตามมา ลดความเครียดที่ต้องเผชิญ เมื่อกรมสรรพากรขอตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร และการบริหารข้อมูลทางบัญชี ซึ่งหากผิดพลาด อาจจะต้องได้รับโทษทั้งการจ่ายภาษีย้อนหลัง รวมไปถึงความผิดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ทางที่ดี ควรนำคำแนะนำต่าง ๆ ที่นำมาบอกเล่ากันนี้ ไปปรับใช้ เพื่อทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น
อ่านเพิ่มเติม: กู้สินเชื่อเพื่อธุรกิจ