
หลังสถานการณ์โควิด – 19 ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกคลี่คลาย การดำเนินธุรกิจ การใช้ชีวิตกลับมาในใกล้เคียงรูปแบบเดิม ความต้องการสินค้าและการบริการก็มีประมาณสูงขึ้น สวนทางกับปริมาณการผลิตที่ยังไม่สามารถกลับมาได้เท่าเดิม ประกอบกับภาวะสงคราม วิกฤติค่าน้ำมันแพงขึ้นแบบหยุดไม่อยู่ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น จนทำให้สินค้าต่างๆ ทยอยขอปรับขึ้นราคา เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไป เหล่าผู้บริโภคซึ่งมีรายได้จำกัด จึงต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มจนทะลุเพดาน การจะอยู่รอดในสถานการณ์แบบนี้ได้นั้น จึงจำเป็นต้องมีการวางแผน และลงมือปฏิบัติอย่างมีวินัย
ซึ่งจะมีวิธีการประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างไร เรามีเคล็ดลับมาแนะนำ เพื่อทำให้ทุกคนอยู่รอดได้ในยุคข้าวยากหมากแพง
1. ลดการทานข้าวนอกบ้าน เปลี่ยนมาทำอาหารทานเองบ้าง
สำหรับผู้ที่อยู่อาศัยกันเป็นครอบครัว การออกไปทานข้าวนอกบ้าน ก็จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า ทั้งค่าน้ำมันจากการเดินทาง หรือค่ารถโดยสาร ค่าอาหารเครื่องดื่ม ค่าบริการต่าง ๆ ที่สูงกว่าแต่ก่อนมาก การเปลี่ยนมาทำอาหารทานเองที่บ้าน น่าจะมีความคุ้มค่ากว่า ช่วยลดต้นทุน มีอาหารที่ปลอดภัย ฝีมือตัวเอง แถมยังได้มีเวลาอยู่กับครอบครัว ทานอาหารพร้อมหน้ากัน เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างประโยชน์ช่วยลดค่าใช้จ่าย และสร้างความสัมพันธ์ภายในครอบครัวไปด้วย
2. จำกัดรายจ่ายฟุ่มเฟือย ที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน
ด้วยพฤติกรรมการช้อปปิ้งออนไลน์ที่สะดวกสบายกว่าแต่ก่อนมาก หลายคนอาจจะเผลอใจ CF สินค้าไป โดยที่ไม่ได้คิดและคำนึงถึงเงินที่มีในกระเป๋า หรือการนำเงินล่วงหน้ามาใช้จ่ายผ่ายบัตรเครดิต ทำให้มีโอกาสเป็นหนี้สินในระยะยาวได้ การจำกัดรายจ่ายฟุ่มเฟือย ที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน จึงเป็นทางออกที่เหมาะสม สำหรับในยุคที่ทุกอย่างแพง โดยควรจัดลำดับความสำคัญในสิ่งที่จะจ่ายเงินซื้อ โดยควรคิดทบทวนให้ดีทุกครั้งก่อนที่จะจ่ายเงิน เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งนั้นมีความจำเป็นในเวลานี้จริง ๆ
3. ซื้อสินค้าต่าง ๆ ในช่วงมีโปรโมชั่น หรือลดราคา
ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง แบรนด์สินค้าและบริการต่าง ๆ มักจะทยอยออกโปรโมชั่นสุดพิเศษเพื่อมาดึงดูดใจลูกค้า สำหรับผู้บริโภคเอง เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อเงินที่เสียไป หากรอได้ ก็ควรจะรอซื้อในช่วงที่มีการจัดโปรโมชั่น หรือลดราคา เพื่อให้ได้ของที่ต้องการ ในราคาที่ถูกลง แต่คุณภาพของสินค้านั้นยังคงเดิม โดยควรหมั่นตรวจเช็คสินค้าที่ต้องการซื้อ และสังเกตช่วงเวลาที่สินค้านั้น ๆ มีโปรโมชั่น ควรกดสั่งซื้อในปริมาณที่เหมาะสม ไม่น้อย หรือไม่มากจนเกินไป
4. บริหารเงินเป็นค่าใช้จ่ายรายวัน และมีวินัยในการใช้เงิน
การจัดสรรเงินเป็นค่าใช้จ่ายแบบวันต่อวัน แม้ว่าอาจจะเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความยุ่งยาก ที่หากทำให้สามารถมีเงินจ่ายเพียงพอทั้งเดือน และไม่ทำให้กระทบต่อรายจ่ายอื่นๆ ก็ถือว่าคุ้มค่าไม่น้อย โดยควรเฉลี่ยเงินสำหรับการกินใช้ เดินทางในแต่ละวันอย่างเหมาะสม ที่ไม่ทำให้ลำบากจนเกินไป และเผื่อเงินสำรองไว้บางในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ จะได้ไม่เดือดร้อนต้องไปหยิบยืม สร้างความรำคาญใจให้กับคนอื่น ๆ
5. งดกิจกรรมสังสรรค์ หรือมีแต่ลดจำนวนให้น้อยลง
การปาร์ตี้สังสรรค์กัน ไม่ว่าจะในหมู่เพื่อนฝูง หรือในครอบครัวเอง ในช่วงที่ภาระค่าใช้จ่ายเยอะ อาจจะเลือกใช้วิธีงดเว้นไปก่อน หรือลดจำนวนให้น้อยลงกว่าแต่ก่อน เพื่อประหยัดเงิน เพราะการจัดกิจกรรมสังสรรค์ในแต่ละครั้ง จำเป็นต้องใช้เงินค่อนข้างสูง และยังไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรมากมายกลับมาให้ชีวิต นอกจากความสนุกสนานบันเทิงแบบชั่วคราว ซึ่งเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ก็สามารถกลับมาทำได้
เพราะเงินยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินชีวิต ดังนั้นการหาวิธีในการใช้จ่ายเงินที่หามาได้อย่างจำกัด เพื่อให้เพียงพอต่อรายจ่ายที่ขยับตัวสูงขึ้นแบบต่อเนื่อง จึงต้องอาศัยทั้งการวางแผนที่รัดกุม การลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังมีวินัย ไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่ง ที่หมายรวมถึงคนทั้งครอบครัว ที่ต้องร่วมมือช่วยเหลือ ทำตามแผนที่ตกลงร่วมกัน เพื่อให้มีเงินใช้เพียงพอ และไม่ทำให้ลำบากมากจนเกินไปด้วย
อ่านเพิ่มเติม: คนที่ไม่ควรยุ่งเกี่ยว