
สำหรับนักศึกษาจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตการทำงาน มีเงินเดือนใช้เป็นของตัวเอง อาจจะมีเป้าหมายการใช้เงินที่หลากหลาย หลงใหลกระแสวัตถุนิยมเฉกเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ แต่สำหรับผู้ที่มองหาความมั่นคงทางการเงิน ทั้งเกษียณเร็ว และเกษียณรวย ข้อคิด การเงิน เริ่มต้นอย่างไรมีเงินใช้ระยะยาวการเริ่มต้นคิด และวางแผนการเงิน รวมทั้งลงมือทำได้เร็ว ก็ยิ่งจะก้าวไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้นด้วย ทั้งนี้ก็ต้องแลกมากับการอดเปรี้ยวไว้กินหวาน
ซึ่งเราขอนำข้อคิด การเงินดี ๆ ที่จะช่วยเตือนใจ ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจและใส่ใจวางแผนการเงินกันมากขึ้น
1. อย่าเพิ่งสร้างหนี้จน
การเป็นหนี้สำหรับคนรุ่นใหม่ คงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่าย ยิ่งมีเงินเป็นของตนเอง รวมทั้งมีสิ่งของที่อยากได้เป็นจำนวนมาก แต่การสร้างหนี้จน หรือหนี้ที่ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มเติม เป็นการกู้เงินมาซื้อสิ่งของ สนองความต้องการของตนเอง ซึ่งต้องผูกภาระดอกเบี้ยในระยะยาว ยิ่งหากบริหารจัดการเงินไม่ดี ก็มีโอกาสที่จะทำให้การเงินขาดสภาพคล่อง ไม่มีทั้งเงินออม และเงินลงทุนได้
2. ออมเงิน 20 เปอร์เซนต์ของรายได้
อย่างที่บอกไว้ตอนต้นว่าการอดเปรี้ยวไว้กินหวาน เป็นการสร้างวินัยที่ต้องใช้ความอดทน แต่ก็ถือว่าคุ้มค่ากับความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การรู้จักออมเงินทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 20 เปอร์เซนต์ของเงินเดือน หรือรายรับ โดยควรเป็นการตัดเงินออมไว้ก่อนที่จะจัดสรรไปเป็นค่าใช้จ่าย และควรเป็นการผูกบัญชีแบบตัดอัตโนมัติเพื่อป้องกันการลืมด้วย
3. ศึกษาเพิ่มพูนความรู้ด้านการลงทุน
ความรู้ด้านวิชาชีพ ไม่เพียงพอต่อการสร้างความมั่นคงในอนาคตได้ ดังนั้น การหมั่นศึกษาหาความรู้ด้านการเงิน การลงทุนอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความเข้าใจในการออม และการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีความน่าสนใจ เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการต่อยอดให้เงินทำงาน สร้างดอกผลให้เงินออมจำนวนน้อย ๆ เพิ่มพูนผลกำไรให้มากยิ่งขึ้น ด้วยพลังดอกเบี้ยทบต้น
4. เน้นทำงานสร้างประสบการณ์
นอกจากความรู้ที่ต้องหมั่นอัพเดทให้มีความทันสมัยอยู่เสมอแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ นั่นก็คือ การสร้างประสบการณ์จากการนำความรู้มาลงมือปฏิบัติจริง เพราะความรู้โดยทั่วไป หาง่ายโดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีสื่อออนไลน์ทั้ง google facebook และ youtube ที่สามารถค้นหาข้อมูลได้ง่ายเพียงปลายนิ้วคลิก แต่ประสบการณ์จากการเรียนรู้และทดลองอย่างจริงจัง จะเป็นประสบการณ์ที่จะสร้างความชำนาญ ซึ่งเปลี่ยนมาเป็นเงินได้ในอนาคต
5. สร้างสินทรัพย์ก่อนสร้างหนี้สิน
คนที่มีความเข้าใจในด้านการเงิน จะลงทุนในสินทรัพย์ที่จะสามารถสร้างกระแสเงินสดให้ก่อนที่จะตัดสินใจสร้างหนี้สิน ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ หรือบ้าน ซึ่งมีมูลค่าสูง ต้องใช้ระยะเวลาในการผ่อนยาวหลายปี และเป็นหนี้ที่ไม่ทำให้เรามีรายได้เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนมาซื้อทรัพย์สิน เช่น ลงทุนในกองทุนรวม หุ้น อสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นทางเลือกที่คุ้มค่ากว่า
แม้ว่าสิ่งที่กล่าวมา อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย ในยุคที่มีสิ่งล่อตาล่อใจ และเกิดการเปรียบเทียบได้ง่ายผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ซึ่งเราใช้งานกันทุกวัน ดังนั้น คนรุ่นใหม่ที่มีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการจะสร้างรากฐานที่มั่นคงทางการเงินไว้ตั้งแต่วัยหนุ่มสาว เพื่อจะได้ไม่ต้องลำบากในบั้นปลายของชีวิต ซึ่งจะหวังพึ่งให้ใครเลี้ยงดู อาจจะเป็นไปได้ยาก การมีเงินเก็บ เงินใช้ ไม่ขัดสน จะเป็นความมั่นคงที่ทุกคนต้องอิจฉา และพูดว่าเสียดาย เมื่อสายไปแล้ว
อ่านเพิ่มเติม: 4 ทักษะความฉลาดทางการเงิน ที่คนอยากเป็นเศรษฐีควรเรียนรู้